เป็นคำสอนที่ปรารถนาให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความรักสามัคคีกัน ต้องการให้คนมีความรักต่อเพื่อนบ้าน ไม่คิดโกรธเคืองพี่น้องร่วมสังคมเดียวกัน ทุกคนควรคำนึงถึงความมั่นคง ไม่ควรทำตนเองให้แก่ชุมชน คำพูดกับความคิดควรตรงกัน ไม่ควรกล่าววาจาเพ้อเจ้อ ให้รู้จักระงับความโทสะ และพิจารณาสิ่งต่างๆตามความเป็นสิ่ง มากกว่าเชื่อโดยหลงงมงาย และเคารพต่อผู้อาวุโสในบ้านเรือน ให้มีความกตัญญูต่อท่าน ทุกคนควรแสวงหาวิชาความรู้และไม่ควรลืมบุญคุณของครูอาจารย์ ให้มีความอดทนขยันหมั่นเพียรในการศึกษาทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
ทุกคนควรยึดมั่นอยู่ในศีลธรรม หมั่นทำทานรักษาศีล ทำใจของตนให้บริสุทธิ์ รู้จักบาปบุญคุณโทษ ควรเคารพในพระรัตนตรัย สอนให้ทุกคนควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันแก่ผู้อื่นตามสมควร ซึ่งเรียกว่ารู้จักกินทาน ควรเลือกคบแต่คนดี รู้จักปรับตัวเข้ากับคนอื่น รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เป็นคนโอ้อวดตนเองว่าเก่งกว่าคนอื่น ไม่ประมาทให้รู้จักระมัดระวังตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรมีอคติต่อทุกคน ให้มีความซื้อสัตย์ รู้จักบริจาคทรัพย์ ละความโกรธและมีขันติธรรมมีใจหนักแน่น ห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ ห้ามไม่ให้ทำลายพระพุทธรูป ศาสนสถาน ทำร้ายพ่อแม่ญาติพี่น้องตน ภิกษุสามเณร ครูอาจารย์ตลอดจนพระราชา และราชวงศ์ จะได้รับบาปกรรมหนักยิ่ง
คนเฒ่าคนแก่ควรจะเข้าวัดฟังธรรม ตลอดถึงปฏิบัติตามจารีตประเพณีของตนเอง ควรละความโกรธ ใส่ใจในการศึกษาธรรมพร้อมทั้งปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ควรคิดถึงวัตถุภายนอกมากจนเกินไป ควรแสวงหาอริยทรัพย์ภายใน เมื่อถึงเวลาแก่ชรามาแล้วควรแสวงหาบุญกุศล คือบุญในตอนเช้า ให้ตักบาตรจังหันใน บุญในตอนกลางวันให้ถวายอาหารเพล บุญตอนค่ำให้เข้าวัดฟังพระธรรมเทศนา บุญตอนมือค่ำให้แต่งขันดอกไม้ ตอนดึกให้สวดมนต์ภาวนา
สอนให้รู้จักทำบุญ
พงศ์พันธุ์เชื้อตายายพ่อแม่ ควรที่นบน้อบไหว้ยอไว้ที่สูง
ผลาบุญมาค้ำแนมนำยู้ส่ง ปรารถนาอันคงชิลุลาภได้โดยด้ามดั่งประสงค์
(พงศ์พันธุ์เชื้อพ่อแม่ควรที่จะกราบไหว้ยกไว้ที่สูง ผลาอานิสงส์มาส่งให้ ปรารถนาสิ่งใดก็ได้สมดั่งความประสงค์) บุญก็ย่อมจะส่งผลให้ทุกอย่าง คือ สวย รวย เก่ง ล้วนแต่เกิดจากคนมีบุญทั้งสิ้น ดังนั้นคำสุภาษิตจึงสะท้อนภาพรวมให้เห็นว่าคนมีบุญนั้นจะสบายในลักษณะอย่างไรดังสุภาษิตนี้คือ
บุญมีได้ เป็นนายใช้เพิ่น
คันแม่นบุญบ่ให้ เขาสิใช้ตั้งแต่เฮาฯ
(บุญมีได้เป็นนายใช้คนอื่น ถ้าใช่บุญไม่ส่งให้เขาจะใช้แต่เรา) หมายถึงความดีที่เราทำด้วยกาย วาจา และใจ ถ้าพร้อมพลั่งแล้วจะเป็นอำนาจบารมีให้คนอื่นช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้ชีวิตเรามีความสุข จะทำพูดคิดสิ่งใดก็มีคนมาค่อยให้ความช่วยเหลือ เรียกว่าคนที่เคยทำบุญมาร่วมกัน เช่น เพื่อน ญาติ แม้ทั้งคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติก็ช่วยเหลือถ้าบุญบารมีเรามีแล้ว เช่น พระสงฆ์ พระมหากษัตริย์ ราชการชั้นผู้ใหญ่จะไปทางใดก็มีข้าทาสบริวารคอยรับใช้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เองที่อานิสงส์บุญจะแผ่รัศมีออกมาในรูปแบบของความดีหลายๆทาง ดังนั้นการทำความดีจึงให้ลงมีทำด้วยตัวเอง อย่ารอคอยโชควาสนาคนอื่นมาส่งเสริมให้เราดังสุภาษิตว่า
คอยแต่บุญมาค้ำ บ่ทำการมันบ่แม่น
คอยแต่บุญส่งให้ มันสิได้ฮ่อมใดฯ
(คอยแต่บุญมาช่วย ไม่ทำบุญมันก็ไม่ถูก คอยแต่บุญส่งให้มันจะได้อย่างไร) การกระทำอะไรทุกอย่างต้องทำด้วยตัวเอง บุญก็ดี บาปก็ดีย่อมเป็นของคนนั้นเองดังสุภาษิตว่า
คือจั่งเฮามีเข้า บ่เอากินมันบ่อิ่ม
มีลาบคันบ่เอาข้าวคุ้ย ทางท้องก็บ่เต็มฯ
(คือกับเรามีข้าวแต่ไม่เอากินมันก็ไม่อิ่มท้อง เหมือนมีลาบถ้าไม่ตักข้าวเข้าปากท้องก็ไม่เต็ม) การทำบุญให้กระทำด้วยตัวเองเพราะบุญและบาปนั้นจะส่งผลให้ใช้ชีวิตดีหรือชั่วเพราะอำนาจของบุญหรือบาปนี้เอง ดังสุภาษิตว่า
อันว่านานาเชื้อ คนเฮาแฮมโลก หลานเอย
บุญบาปตกแต่งตั้ง มาให้ต่างกัน
ใผผ้ทำการฮ้าย ปาปังทางโทษ
มีแต่สาโหดฮ้าย สิมาไหม้เมื่อล่นฯ
(อันว่านานาเชื้อคนเราอยู่ทั่วโลกหลานเอย บุญบาปเป็นปัจจัยปรุงแต่งมาให้ต่างกัน ใครผู้ทำบาปชั่วร้าย เป็นบาปมีโทษมีแต่ทุกข์จะมาไหม้เมื่อหลัง) สะท้อนให้เห็นว่าบาปหรือบุญเป็นสิ่งที่ติดตามมนุษย์ไปทุกภพทุกชาติ เป็นกรรมติดตัวไปตลอดจนเข้าสู่ความดับทุกข์ได้ และบาปกรรมเป็นผู้กีดกั้นหรือทำให้มนุษย์ประสบกับการพลัดพรากจากกัน หรือได้มาพบกัน ดังสุภาษิตนี้
อันว่ากุญชรช้าง พลายสารเกิดอยู่ป่า
ยังได้มาอยู่บ้าน เมืองกว้างกล่อมขุนฯ
(อันว่าช้างเผือกเกิดอยู่ในป่า ยังได้มาอยู่บ้านเมืองร่วมกับพระยา) หมายถึงบุญบารมีส่งให้สิ่งที่อยู่ไกล้อย่างไรเมื่ออำนาจบุญส่งมาถึงแล้วย่อมพบกันเปรียบเหมือนช้างสารตัวงามที่เกิดในป่าย่อมเป็นเพราะบารมีของพระมหากษัตริย์จึงทำให้ได้พบช้างคู่บ้านคู่เมือง แต่ถ้ากรรมเวรมาถึงแล้วก็ไม่มีสิ่งใดมาบังคับไม่กรรมส่งผลให้ ดังสุภาษิตนี้ว่า
ตั้งแต่พระเวสเจ้า กับนวลนาถนางมัทรี
ยังได้หนีพารา จากนครยาวเยิ้น
ไปอยู่ดงแดนด้าว ไพรสนฑ์แถวเถื่อน
มีแต่ทุกยากเยื้อน บ่เคยพ้อพบเห็นฯ
คันแม่นเป็นจั่งซี้ เฮาสิว่าฉันใด
สิว่ากรรมมาตัด หรือว่าเวรมาต้อง
ใผผู้ทำดีไว้ ความดีกระดึงจ่อง
ใผผู้สร้างบาปไว้ กรรมสิใช้เมื่อลุนฯ
(ตั้งแต่พระเวสสันดรกับพระนางมัทรียังได้หนีจากนครไปอาศัยอยู่ราวป่าแดนเถือน มีความทุกข์ลำบากมาเยื้อนไม่เคยพบเห็น คือว่ากรรมมาตัดรอนหรือว่ากรรมเวรมาส่งผลให้เป็นไปอย่างนั้น ใครผู้ทำความดีไว้ ความดีก็ตามสนอง ใครผู้ทำบาปไว้กรรมนั้นก็ตามสนอง
สอนไม่ให้หลงลืมตน
การเปรียบเทียบไม่ให้ลูกหลานลืมความหลังหรือลืมวงศ์ตระกูลของตนเอง หรือหลงลืมชาติตระสกุลตัวเอง ดังสุภาษิตว่า
คันได้กินกะปิแล้ว อย่าลืมคุณปลาแดก
ลางเทื่อเฮาแตกบ้าน ยังสิได้ใส่กินฯ
(คันได้กินกะปิแล้วอย่าลืมว่าเราเคยกินปลารา ถ้าบ้านเมืองแตกยังจะได้ทำกิน) สอนให้สำนึกในบุญคุณของเก่าที่ตัวเองเคยกินเคยใช้มาก่อน ถ้าไปเห็นสิ่งใหม่ที่อื่นคนเราก็ไม่อยากกลับมามีชีวิตอย่างเดิม เรียกหลงชาติเชื้อของตัวเองก็ได้ เหมือนสังคมทุกวันนี้แต่ก่อนเคยทำไรไถนาแต่พอพัฒนาเศรษฐกิจมาเป็นอุตสาหกรรม คนก็มาทำงานในโรงงานกันหมด ลืมว่าอาชีพเก่าตัวเองเป็นชาวไรชาวนา แต่เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำก็ทำให้โรงงานนั้นเปิดตัวลงด้วยพิษเศรษฐกิจ คนงานก็กลับบ้านเดิม แต่ทำไรไถนาไม่เป็นเหมือนเดิมแล้ว ลูกหลานชาวอีสานติดอยู่กับความสุข ติดอยู่ในแสงสีเสียงในกรุงเทพอาหารที่เคยกินตามมีตามเกิดก็กินอย่างเดิมไม่ได้เสียวแล้ว ดังสุภาษิตว่า
คนบูฮาณพุ้น เขากินข้าวก่อง
หลานได้กินข้าวเจ้า อย่าลืมปั้นข้าวเหนียวฯ
(คนโบราณแต่ก่อนนั้นเขากินข้าวในก่อง(ก่องข้าวเหนียว) หลานได้กินข้าวจ้าว อย่าลืมว่าเคยปั้นข้าวเหนียวกิน) การมีประสบการณ์เมื่อได้ไปเที่ยวถิ่นอื่นนั้นก็ดีอยู่ แต่อย่าลืมท้องถิ่นบ้านเดิมที่ตัวเองเคยอยู่มา ดังสุภาษิตว่า
คันได้เทียวไปใต้ เมืองไกลประเทศอื่น
เจ้าอย่าลืมด่านด้าว เมืองบ้านเก่าเฮาฯ
วันหนึ่งเจ้าไปพบพ้อ น้ำพริกเมืองไทย
อย่าได้ไลลืมปะ แจ่วบองทางบ้านฯ
(ถ้าได้เที่ยวไปกรุงเทพ เจ้าอย่าลืมบ้านเกิดของเรา วันหนึ่งเจ้าได้พบเจอน้ำพริกเมืองไทยอย่าลืมทิ้งปลาราสับทางบ้าน(คืออาหารที่ทำจากปลาราโดยน้ำปลาราและพริกมาสับและตำเข้าด้วยกันเรียกว่า แจ่วบอง) ย่าได้รับบทบาทหน้าที่สั่งสอนบุตรธิดามาแต่โบราณ จึงมองเห็นว่าถ้าลูกหลานไม่ถูกก็เป็นหน้าที่ของย่าจะอบรมสั่งสอน เพื่อไม่ให้ลูกหลานเดินออกนอกลู่นอกทาง ลืมอย่างอื่นนั้นยังไม่เกิดโทษอะไรมากมายแต่ถ้ามนุษย์เราหลงลืมตัวเองแล้วโทษมันก็จะตามมามากมายอย่างสุภาษิตนี้ว่า
คันเจ้าได้เป็นเจ้า อย่าลืมหมู่หมู่หมา
ห่าขโมยมาลัก สิเห่าหอนให้มันย้าน
ลางเทื่อกวางฟานเต้น ตามดงสิได้ไล่
บาดห่าได้ต่อนชิ้น ยังสิโอ้อ่าวคุณ ดอกนาฯ 14
(ถ้าหากเจ้าได้เป็นเจ้าคน อย่าลืมหมู่หมูหมา ถ้าหากมีขโมยมาจะเห่าให้เกรงกลัว เมื่อมีกวางฟานเดินผ่านมาตามป่าดงจะได้ไล่กัด เมื่อได้ก้อนเนื้อยังจะได้คิดถึงคุณของสุนัข) หมายความว่า ถ้าบุตรหลานตนเองได้เป็นเจ้าคนนายคน อย่าลืมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเมื่อยามมีภัยมาถึงก็จะได้ช่วยเหลือกันหรือป้องกันภัยให้แก่กันได้ เพราะคนเราต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน เมื่อยามเรายากจนหรือเพื่อนลำบากมาก็จะได้ช่วยเหลือกัน สุภาษิตนี้สะท้อนให้เห็นว่าย่าก็ดีได้สั่งสอนปรัชญาชีวิตแก่บุตรหลานได้อย่างชาญฉลาด คือยกเอาสัตว์ต่างๆมาเปรียบเทียบให้มองเห็นภาพได้ง่าย เพราะการลืมตนเองคนนั้นหลงเอาง่ายๆเมื่อคนมีอำนาจวาสนา บ้างครั้งพ่อแม่ก็ยังหลงลืมบุญคุณเอาได้ง่ายๆ ด้วยอำนาจของการหลงตนจนลืมแก่ หลงเมียจนลืมแม่ บทบาทของย่าที่สะท้อนถึงวิถีทางของสุภาษิตว่า
คันเจ้าได้นั่งบ้าน เป็นเอกสูงศักดิ์
อย่าได้โวโวเสียง ลื่นคนทั้งค้าย
แนวว่าเป็นนายนี้ ให้หวังดีดอมไพร่
คันแม่นไพร่บ่พร้อม สิเสียหน้าบาดเดินฯ
(ถ้าหากว่าเจ้าได้นั่งบ้านเมืองเป็นคนใหญ่โตสูงศักดิ์ อย่าได้พูดอวดเก่งกว่าคนทั้งหลาย ธรรมเนียมเป็นนายนี้ให้หวังดีกับประชาชน ถ้าหากประชาชนไม่สนับสนุนจะอับอายขายหน้าเวลาเดิน)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น