พระมหากษัตริย์หรือผู้ปกครองประเทศ
คือท่านที่เป็นผู้ใหญ่ในแผ่นดินหรือผู้นำและผู้ปกครองรัฐตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์ ตลอดจนนักปกครองโดยทั่วไป มีหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติ และมีข้อปฏิบัติดังนี้ คือ
๒.๑.ทศพิธราชธรรม
คือ มีคุณธรรมของผู้ปกครองหรือราชธรรม(ธรรมของพระราชา) 10 ประการ ดังนี้
๑) ทาน การให้ปันช่วยเหลือประชาชน คือ การบำเพ็ญตนเป็นผู้ให้โดยมุ่งปกครองหรือทำงานเพื่อให้เขา มิใช่จะเอาประโยชน์จากเขา เอาใจใส่อำนวยบริการ จัดสรรความสงเคราะห์ อนุเคราะห์ให้ประชาราษฎร์ได้รับประโยชน์สุข ความสะดวกปลอดภัย ตลอดจนให้ความสนับสนุนแก่คนที่ทำคุณแก่ประเทศชาติ
๒) ศีล รักษาความสุจริต คือ ประพฤติดีงาม สำรวมกายและวจีทวาร ประกอบแต่การสุจริต รักษาเกียรติคุณ ประพฤติให้เป็นแบบอย่าง และเป็นที่เคารพนับถือของประชาราษฎร์มิให้มีข้อที่ผู้ใดจะดูแคลน
๓) ปริจจาคะ บำเพ็ญกิจด้วยการเสียสละ คือสามารถเสียสละความสุขสำราญด้วยตัวเพื่อความสุขของประชาราษฏร์เป็นต้น ตลอดจนแม้ชีวิตของตนเองได้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
๔) อาชชวะ ปฏิบัติภาระโดยซื่อตรง คือซื่อตรงทรงสัตย์ไร้มายา ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริต มีความจริงใจ ไม่หลอกลวงประชาชน
๕) มัททวะ ทรงความอ่อนโยนเข้าถึงคน คือ มีอัธยาศัยไม่เย่อหยิ่งหยาบคายกระด้างถือพระองค์ มีความสง่างามเกิดแต่ท่วงทีกิริยาสุภาพนุ่มนวลละมุนละไม ควรได้รับความรักภักดีแต่มิขาดความยำเกรง
๖) ตปะ พ้นมัวเมาด้วยเผากิเลส คือแผดเผากิเลส ตัณหามิให้เข้ามาครอบงำจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและการปรนเปรอ มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆสามัญ มุ่งมั่นแต่บำเพ็ญเพียรทำกิจในหน้าที่ให้สมบูรณ์
๗) อักโกธะ ถือเหตุผลไม่โกธา คือไม่ทรงเกรี้ยวกราด ไม่วินิจฉัยคดีความด้วยลุอำนาจแก่ความโกรธ มีเมตตาประจำใจไว้ ระงับความเคืองขุ่น วินิจฉัยความและกระทำการด้วยจิตอันสุขุมราบเรียบตามความยุติธรรม
๘) อวิหิงสา มีอหิงสานำความร่มเย็น คือไม่หลงระเริงอำนาจ ไม่บีบคั้นกดขี่ มีความกรุณา ไม่หาเหตุเบียดเบียนลงโทษอาญา แก่ประชาราษฎร์ผู้ใด ด้วยความอาฆาตเกลียดชัง
๙) ขันติ ชำนะเข็ญด้วยขันติ คือ อดทนต่องานที่ตรากตรำ อดทนต่อความเหนื่อยยากถึงจะลำบากกายน่าเหนื่อยหน่ายเพียงไร ก็ไม่ท้อถอย ถึงจะถูกยั่วถูกหยันด้วยถ้อยคำเสียดสีถากถางอย่างใด ก็ไม่หมดกำลังใจ ไม่ละทิ้งกิจกรณืย์ที่ทรงบำเพ็ญมาโดยชอบธรรม
๑๐) อวิโรธนะ มิปฏิบัติคลาดจากธรรม คือประพฤติมิให้ผิดจากประศาสนธรรม อันถือประโยชน์สุขความดีงามของรัฐและราษฎร์เป็นที่ตั้ง อันใดประชาราษฎร์ปรารถนาโดยชอบธรรมก็ไม่ทรงขัดขืน การใดเป็นไปโดยชอบธรรมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็ไม่ขัดขวาง วางพระองค์เป็นหลัก มีความหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว เพราะถ่อยคำดีร้าย ลาภสักการะหรืออิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ใดๆ สถิตมั่นในธรรมทั้งส่วนยุติธรรมคือความเที่ยงธรรม และหลักนิติธรรมคือระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ไม่ประพฤติให้เคลื่อนคลาดวิบัติไป190
วรรณกรรมอีสาน
๒.๒ ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดัง นี้คือ
มีทานศีลตั้งไว้ในเจ้าบ่ได้ไล กับทั้งเมตตาตั้งไว้กรุณาสิบสิ่งนั้นแล้ว
ตัปปังพร้อมอะโกธังบ่เชิงเคียด อะวิหิงสาบ่กล่าวต้านคำส้มใส่ไผ
อะวิโรธนังให้มีใจตั้งต่อ มุทุตาช่างเว้าอุเปกขาเจ้าบ่ห่อนไห
พระก็ทศราชแท้ตั้งอยู่ตามคอง บ่มีใจโมโหแก่เขาขุนข้า191
๒.๓ บำเพ็ญกรณีย์ของจักรพรรดิ์
คือ ปฏิบัติหน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร คือธรรมเนียมของพระเจ้าจักรพรรดิ์ 5 ประการ คือ
๑) ธรรมาธิปไตย คือถือธรรมเป็นใหญ่ มีความเคารพธรรม เชิดชูธรรม นิยมธรรมและตั้งตนอยู่ในธรรม ประพฤติธรรมด้วยตนเอง
๒) ธรรมิการักขา ให้ความคุ้มครองโดยธรรม คือจัดอำนวยการรักษาคุ้มครองป้องกันอันชอบธรรมแก่ทุกคนทุกหมู่เหล่าในแผ่นดิน คือ คนภายใน ข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง ข้าราชการพลเรือน นักวิชาการและคนต่างอาชีพ พ่อค้า เกษตรกร ชาวนิคมชนบท พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงธรรม ตลอดจนสัตว์สี่เท้าเป็นต้นฯลฯ
๓) อธรรมการ ห้ามกั้นการอันอาธรรม์ คือจัดการป้องกัน แก้ไข มิให้มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรม การเบียดเบียนข่มเหงและความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง ชักนำประชาชนให้ตั้งมั่นในสุจริตและนิยมธรรม
๔) ธนานุประทาน ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แกชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้เดือดร้อนขัดสนในแผ่นดินเช่น จัดให้ราษฎร์ทั้งปวงมีทางทำมาหาเลี้ยงชีพได้โดยสุจริต
๕) ปริปุจฉา สอบถามปรึกษากับพระสงฆ์และนักปราชญ์ มีที่ปรึกษาที่ทรงวิชาการและทรงคุณธรรม ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา ที่จะช่วยให้เจริญปัญญาและกุศลธรรม หมั่นพบไถ่ถามหาความรู้หาความจริงและถกข้อปัญหาต่างๆอยู่โดยสม่ำเสมอตามกาลอันควร เพื่อชักซ้อมตรวจสอบตนให้เจริญก้าวหน้า และดำเนินกิจการในทางที่ถูกที่ชอบธรรมดีงามและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนและตัวเอง192
๒.๔ จักรวรรดิวัตร ๑๐ ประการ คือ
๑) อันโตชน สังเคราะห์คนภายใน
๒) พลกาย บำรุงกองทัพให้เจริญรุ่งเรือง
๓) ขัตติย สงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักรบ
๔) อนุยันต สงเคราะห์ข้าราชการและเอื้อเฟื้อดูแลข้าราชบริพาร
๕) พราหมณคหปติก สงเคราะห์คฤหบดี
๖) เนคมชานปท สงเคราะห์ชาวนิคม
๗) สมณพราหมณ์ อุปถัมภ์สมณชีพราหมณ์คือนักบวช
๘) มิคปักขี สงเคราะห์สัตว์
๙) มา อธมฺมกาโร ปวตฺติตฺถ ไม่ทำทุจริตผิดธรรมนองคลองธรรม
๑๐) ธนํ อนุปฺปทชฺเชยฺยาสิ จ่ายทรัพย์สงเคราะห์คนอยากจน193
๒.๕ ประกอบราชสังคหะ
คือ การทำนุบำรุงประชาราษฎร์ ด้วยหลักธรรมที่เรียกว่าราชสังคหวัตถุ คือหลักการสงเคราะห์ประชาชนของพระราชา 4 ประการคือ
๑) สัสสเมธะ คือการฉลาดบำรุงธัญญาหาร คือ มีพระปรีชาสามารถในนโยบายที่บำรุงพืชพันธ์ธัญญาหาร ส่งเสริมการเกษตรให้อุดมสมบูรณ์
๒) ปุริสเมธะ คือฉลาดบำรุงข้าราชการ คือมีพระปรีชาสามารถในนโยบายที่จะบำรุงข้าราชการด้วยการพระราชทานรางวัลแก่ผู้มีคุณต่อบ้านเมืองและส่งเสริมคนดีมีความสามารถเป็นต้น
๓) สัมมาปาสะ ผูกประสานปวงประชา คือผดุงผสานประชาชนไว้ด้วยนโยบายส่งเสริมสัมมาอาชีพให้แก่ทุกคนให้มีชีวิตที่สุขสบาย
๔) วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ คือรู้จักพูด รู้จักชี้แจง แนะนำ รู้จักทักทายถามไถ่ทุกข์สุขของประชาราษฎร์ทุกระดับชั้น แม้ปราศรัยก็ไพเราะน่าฟัง ทั้งประกอบด้วยเหตุผล เป็นหลักฐานมีประโยชน์ เป็นทางแห่งการสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาเสริมความสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือของพสกนิกร194
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น