ความเป็นหญิงกับการแต่งงานในสังคมอีสาน
ความเป็นหญิงในมุมมองสตรีนิยม
ประเด็นเพศสภาพ(gender)ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจและถกเถียงกันมาตลอดโดยเฉพาะใน
ระยะหลังๆ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการยอมรับว่าเพศ(sex)เป็นข้อเท็จจริงทางชีววิทยาทางกายภาพ แต่
เพศสภาพ(gender)นั้นเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมที่สังคมมนุษย์ได้สร้างขึ้นมาและ “วาทกรรม”นั้นได้
ย้อนกลับมาส่งอิทธิพลกระทำต่อความคิดและการกระทำทางสังคม(social action) โดยเฉพาะที่ส่งเสริมและ
รองรับให้ฝ่ายชายเป็นที่ยอมรับหรือเป็นใหญ่(Patriarchy)ในสังคม ซึ่งได้ขยายไปสู่ประเด็นศึกษาแยกซอยใน
รายละเอียดต่างๆกัน(feminist Theories)อาทิ ในประเด็น “ความแตกต่าง”(difference) “ความไม่เสมอ
ภาค”(inequality) และ “การกดขี่”(oppression) อาทิ กลุ่ม Radical Feminist, Marxist-Socialist,
Psychoanalytic Feminist, Socialist Feminist, Liberal Feminist และ Postmodern Feminist เป็นต้น(สุเทพสุนทรเภสัช, 2540:280-336. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ, 2544. ปราณีวงษ์เทศ, 2544. วารุณี สมสวัสดิ์, 2545. สินิทธ์ สิทธิรักษ์, 2546. เป็นต้น)
ประเด็นหนึ่งซึ่งกลุ่มนักสตรีนิยม(Feminist)พยายามสร้างวาทกรรมใหม่ขึ้นมา(กระแสตะวันตก)เพื่อช่วงชิงสิทธิ์ที่ถูกบิดเบือนและกดไว้และแสวงหาพื้นที่ของตนในสังคมอยู่นั้นขึ้นมา ทั้งนี้เพศหญิงในอดีต
เคยถูกจัดให้รวมเป็นกลุ่มคนชายขอบ(margin)ซึ่งถูกกันออกจากศูนย์กลางอำนาจในสังคม ทั้งนี้จากความเชื่อที่ว่าสิ่งที่เรียก “ผู้หญิง” “ความเป็นผู้หญิง” และ“ธรรมชาติของผู้หญิง”นั้น เป็นเพียงประดิษฐกรรมของ
สังคมประเภทหนึ่งเท่านั้น(social construct) เป็นธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นมา จึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง
ความหมายดังกล่าวได้ โดยทำลายเส้นแบ่งนี้เสียโดยสิ่งที่สังคม(ผู้ชาย)มอบให้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการมองสตรีว่า “แม่ของโลก” ซึ่งนั้นเป็นเพียงการตอกย้ำเอกลักษณ์/ตัวตนความเป็นแม่ของผู้หญิงให้อยู่ในกรอบที่กำหนดว่าเป็นธรรมชาติ เป็นสัญชาตญาณที่ติดมาด้วยเท่านั้น หากแต่เบื้องหลังมีผลประโยชน์อื่นๆในการสร้างความหมายดังกล่าวขึ้นมา ซึ่งกลุ่มสตรี
นิยมเห็นว่า ถึงแม้จะมีการยอมรับความแตกต่างซึ่งความเป็นหญิงและชาย แต่ไม่ใช่การยอมรับว่าเพศชายเหนือกว่าเพศหญิง(ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร,2542:299-310 และวารุณี ภูริสินสิทธิ์,2546.)
การแต่งงาน และ ความเป็นหญิง : “ต่ำหูก ทอผ้า”การเริ่มต้นรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากการอาศัยร่วมและอยู่ภายใต้การควบคุมและปกครองของผู้ใหญ่ในเรือน แต่การออกเรือนหรือชีวิตครอบครัวต้องอาศัยการตัดสินใจด้วยตนเองหลายอย่างเพราะนอกจากต้องดูแลตนเองแล้วยังต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆด้วย ดังนั้นชีวิตคู่จึงเป็นขั้นตอนของช่วงชีวิตที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงค่อนข้างพิถีพิถันในการแต่งงานอย่างมาก ตั้งแต่การเลือกฤกษ์ยาม โดยควรห้ามแต่งงานในวันคี่ เพราะเชื่อว่าจะทำให้หย่าร้างกันหรือต้องพลัดพลาดก่อนเวลาอันควร ควรแต่งงานในเดือนคู่คือเดือน 2, 4, 6, 8(ก่อนเข้าพรรษา) และเดือน 12 (แต่บางแห่ง2อาจห้ามแต่งงานในเดือน 12 เนื่องจากเป็นเดือนที่สุนัขติดสัด ไม่เป็นมงคล) รวมทั้งควรเป็นวันขึ้น 6, 7, 10,11, 12หรือ 13 ค่ำ และวันแรม 3, 7, 9, หรือ 13 ค่ำ ถือว่าฤกษ์ดี
น อกจากนี้ในสังคมอีสานการแต่งงานไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคนสองคนเท่านั้น แต่เป็นการเชื่อมเอาคนทั้งสองครอบครัวเข้ามามีสัมพันธ์กัน ช่วยสร้างเครือข่ายให้กว้างของเครือญาติให้ขยายออกไปอีก(ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) หรือช่วยให้เกิดความแน่นแฟ้นในความสัมพันธ์มากขึ้น(ในกรณีรู้จักกันมาก่อนหรือคนในตระกูลก่อนหน้าได้แต่งงานกันแล้ว) โดยในวันก่อนแต่งงานซึ่งเรียกว่า “วันสุกดิบ” จะมี
การฉลองกันทั้งที่บ้านฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่ายจะไปร่วมงานกันโดยมีของติดมือติดไม้ไปด้วยเรียกว่าไป “เพาะบุญ” เช่น ผลไม้ หมากพลู ผัก เนื้อสัตว์ต่างๆ หมอน ผ้าขาวม้า ผ้าห่ม ที่นอน เป็นต้นรวมทั้งแรงงานด้วยพิธีกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งในวันแต่งงานคือ “การป้อนไข่” โดยในพานขวัญหรือพานบายศรีของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะมีไข่ต้มสุก หลังจากสิ้นสุดพิธีสู่ขวัญแล้ว “หมอสูด”(สูตร)จะนำไข่จากทั้งพานขวัญฝ่ายหญิงและชายมาปอก แล้วให้ผู้เฒ่าผู้แก่พิจารณาดูอย่างละเอียดว่าไข่ใบใดมีลักษณะดีที่สุด ถ้าไข่ใบที่ถูกเลือกเป็นของฝ่ายใดแล้ว ทายว่าฝ่ายนั้นจะเป็นใหญ่ในครอบครัว ถ้าดีทั้งสองใบแสดงว่าเป็น “ผัวพร้อมเมียเพรียง” จากนั้นจึงนำไข่ดังกล่าวมาบี้กับปั้นข้าวเหนียว แล้วมอบให้คู่บ่าวสาวป้อนไข่กันต่อหน้าผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีการเสี่ยงดูคางไก่ด้วยเพื่อทายว่าชีวิตครอบครัวจะเป็นอย่างไรในอนาคต แต่ส่วนใหญ่จะว่าดีตามกันไปหมดเพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่คู่สมรสให้ไปด้วยดีนอกจากนี้ในวันแต่งหรือ “วันกินดอง”นั้นยังมีพิธี “สมมา” หรือขอขมาญาติฝ่ายหญิง ซึ่งเป็น
รูปแบบหนึ่งที่ให้ฝ่ายชายได้แสดงความรู้จักว่าฝ่ายหญิงมีญาติเท่าใด เพราะญาติที่อยู่ห่างไกลจะได้โอกาสเดินทางมาร่วมงานในวันดังกล่าว จึงนับเป็นโอกาสขยายเครือข่ายความสัมพันธ์ออกไปอีก สามารถเป็นแหล่งรับประกันความอยู่รอดทั้งสองฝ่ายได้ด้วย เช่น การบอกงานบุญประเพณีต่างๆ การขอความช่วยเหลือในช่วงวิกฤติ อาทิ การแลกข้าว แลกปัจจัยจำเป็นต่างๆ เป็นต้นในส่วนของการสมมาญาติฝ่ายชายโดยเจ้าสาวนั้น ค่อนข้างจะมีรายละเอียดต่างจากการสมมาญาติฝ่ายหญิงออกไปอีก ซึ่งแสดงนัยของการเข้าหาแสดงความนอบน้อมและผลผลิตจากการขัดเกลาทางสังคม(socialization)ในทางวัฒนธรรมเพราะต้องมีการ “เตรียมสิ่งของ” โดยฝีมือฝ่ายหญิงไปมอบให้ด้วย โดยฝ่าย
หญิงต้องสืบถามว่าฝ่ายชายมีญาติเท่าใด จากนั้นจะจัดเตรียมเย็บหมอน ที่นอนและทอผ้าไว้รอตั้งแต่ก่อนแต่งงานหลายวัน เมื่อถึงเวลาก็เริ่มกราบสมมาตั้งแต่พ่อแม่สามี โดยมอบที่นอน หมอนและผ้าให้ จากนั้นจึงตะเวนมอบให้ญาติของฝ่ายชายคนอื่นๆจนครบ ถ้ามีญาติที่รักนับถืออยู่ไกลก็จำเป็นต้องเดินทางไปสมมาจนฝ่ายหญิงรู้จักญาติฝ่ายชายถ้วนทั่วหน้ากันทั้งหมด เป็นการสอนให้ผู้หญิงรักญาติสามี “ฮักผัว ให้เจ้า ฮักพี่น้องแนวน้า แม่ผัว”ประเด็นการตั้งข้อสังเกตก็คือว่า “สิ่งของขอขมา” ที่ฝ่ายหญิงเตรียมมามอบในวันงานนั้น เป็นอีกผลผลิตที่พิสูจน์ “ความเป็นหญิง” คือการเป็น “แม่บ้านแม่เรือน” ซึ่งเป็นสิ่งคาดหวังของสังคม กล่าวคือในสังคมชาวนาอีสานช่วงว่างฤดูกาลทำนาในอดีตนั้น จะใช้เวลาไปในการผลิตสร้างสรรปัจจัยสี่อื่นๆ เช่น ฝ่ายชายอาจจะตีเหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในครัวเรือนหรือซ่อมแซมเครื่องมือที่เก่าชำรุดเพื่อเตรียมไว้ใช้3ในฤดูกาลผลิตต่อไป บางคนอาจจะจักสานเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ เช่น แห ไซ คุตามอัธยาศัย ส่วนผู้หญิงอีสานนั้นจะใช้เวลาช่วงนี้ในการผลิตและซ่อมแซมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่มผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า หมอน มุ้ง เป็นต้นในลักษณะที่เรียกกันว่า “ผู่ซายตีเหล็ก จักสาน ผู่ญิงต่ำหูก”การทอผ้าถือว่าเป็นงานจำเป็นของผู้หญิงอีสานที่ต้องเรียนรู้และฝึกปฏิบัติให้ชำนาญ เพราะการทอผ้าเป็นนั้น ไม่ได้แค่ประโยชน์ที่จะได้รับโดยตรงในรูปของผลิตผลที่จะได้จากทักษะเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องบ่งบอกและเป็นกระบวนการที่จะแสดงว่าผู้หญิงคนนั้นมีความเหมาะสมในคุณสมบัติที่สังคมคาดหวังว่าจะสามารถประกอบกิจอื่นๆโดยลำพังได้ ทำนองว่าบรรลุนิติภาวะตามภาษากฎหมายในปัจจุบันบัญญัติไว้ มีความพร้อมที่จะสามารถออกเรือนมีลูกมีผัวได้แล้ว ดังนั้นการทอผ้าจึงเป็นดังกระบวนการขัดเกลาในสังคม
เป็นบรรทัดฐานอย่างหนึ่งของสังคมที่สร้างขึ้นมาให้คนในสังคมตระหนักและรับผิดชอบในงานการหน้าที่
บทบาทของตนเองถ้าผู้หญิงอีสานคนใดยังไม่ผ่านทักษะดังกล่าวนั้นแล้วถือว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตครอบครัวที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่หลายอย่างต่อไปในอนาคตได้ ทำนองว่าลำพังงานทอผ้ายังทำไม่เป็นแล้วจะไปดูแลรับผิดชอบหน้าที่ใดได้ยิ่งงานในครัวเรือน ในสังคมอีสานในอดีต ที่ต้องพึ่งพาตนเองทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ หากไม่สามารถผลิตได้เองแล้ว ดูจะยากในการที่สรรหามาใช้สอยในครัวเรือนได้ จำเป็นต้องเรียนรู้และต้องทำให้เป็น ดังที่มีคำกล่าวเปรียบเปรยแก่ผู้หญิงที่ยังขาดคุณสมบัติดังกล่าวว่าไม่ควรจะแต่งงานมีครอบครัว
“ ต่ำหูกบ่เป็นแจ(เหลี่ยม)ต่ำแพร บ่เป็นฝากะต่าต้อน
เลี้ยงหม้อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน บ่เป็นตาเอาผัว ”( จารุวรรณ ธรรมวัตร,2538:36)
พร้อมทั้งในมาตรฐานสังคมในอดีต หนึ่งในคุณสมบัติของผู้หญิงที่กล่าวไว้ในตำราการดูลักษณะ
หญิงที่ชายควรนำมาเป็นคู่ครองนั้น การทอผ้าถือว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเกณฑ์ดูลักษณะว่า
ผู้หญิงคนนั้น เหมาะสมที่ฝ่ายชายจะร่วมหัวร่วมท้ายด้วยกันหรือไม่
“ …หญิงใดเจรจาต้าน ตามคองเถ่าแก่ ให้ถือแท้คำเฒ่าสั่งสอน
ตั้งเหล่า บ่ขี้คร้าน ต้ำหูกทอไหม ของแพงดีเอนกนอนในห้อง
หญิงนั้น เขากะลือชาแท้ ทั้งแดนดาโลก ไผกะยังอยากได้เป็นแก้วมิ่งเมีย
นางนั้นควรที่ เอากล่อมกลิ้งเป็นมิ่งเมียขวัญ นางจักพาคูณเฮือน อยู่สบายหายฮ้อน…” (จารุบุตร เรืองสุวรรณ, 2515 : 9)
อุตสาหกรรมทอผ้าในครัวเรือนอีสานนั้น นอกจากจะผลิตเพื่อใช้สอยโดยตรงแล้ว ยังผสมผสานงานศิลป์อันประณีต ซึ่งขั้นตอนในการผลิตผ้านั้น กว่าจะได้มาแต่ละชิ้นแต่ละผืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักจำเป็นต้องใช้ความอดทนละเอียดอ่อนและความชำนาญอย่างมากในการสร้างสรร ทั้งนี้นอกจากการผลิตใช้ในครัวเรือนแล้ว ผลผลิตบางส่วนยังได้นำเป็นสื่อทางสังคมด้วย เช่น เป็นของขวัญ ของฝากแก่ญาติมิตร คนรู้จัก เป็นของทานเพื่อบุญกุศลที่จะได้มาผ้าทออีสานได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามาบทบาทและส่วนร่วมในกระบวนการทางสังคมดังกล่าว เช่น การทอผ้าทำจีบง อังสะ สบง รวมทั้งธงหรือทุงในงานบุญงานกุศลด้วย อาทิ งานบุญผะเหวด ซึ่งถือว่าเป็นมหากุศลที่จะผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรจรรโลงความเชื่อในสังคมอีสาน ดังนั้นนอกจาก4จะเป็นการสร้างผลผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน ฝึกทักษะของความเป็นแม่หญิงที่สังคมต้องการแล้ว ยังเป็นเกณฑ์ทั้งฝ่ายหญิงที่ควรจะพิสูจน์ตนเองต่อสังคมว่าตนเองมีคุณสมบัติเหมาะสม(ตามบรรทัดฐานและค่านิยมของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่) และเป็นผู้ใหญ่ซึ่งพร้อมที่ออกเรือนและตัดสินใจรับผิดชอบโดยตนเองแล้ว และเป็นเกณฑ์ที่ฝ่ายชายยึดไว้สำหรับที่จะเลือกผู้หญิงมาเป็นแม่บ้านด้วย จะเห็นว่ามนุษย์สร้างสรรวัฒนธรรมขึ้นมาแล้ว วัฒนธรรมยังกลับมาเป็นตัวกระทำตอบต่อพฤติกรรมในสังคมด้วยการขัดเกลาทางสังคม: ความคาดหวังทางบรรทัดฐานทางสังคมและการปฏิบัติจริงเนื่องจากการแต่งงานไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่เป็นเรื่องระดับสังคม โดยเฉพาะในสังคมเกษตรกรรมขนาดเล็กของสังคมอีสาน ดังนั้นจึงเกิดกระบวนการขัดเกลาทางสังคม(socialization)ผ่านทางการสอนค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคมต่างๆขึ้นมา โดยเป็นทั้งกลไกในการควบคุมและสนับสนุนความประพฤติทางสังคม(social control and support) โดยเฉพาะข้อปฏิบัติของฝ่ายหญิงที่ควรประพฤติก่อนมีการแต่งงานตามประเพณี
“ ยามเมื่อเป็นสาวขึ้นรักษาตนสงวนเพศนางเอย ให้นางปอดอ้อยส้อยเสมอแก้วหน่อมณี
เพิ่นว่าเป็นสาวนี่คนดีมันหายาก ไผผู้ปอดอ้อยส้อยมีน้อยแม่นบ่หลาย”
“หญิงใดบริสุทธิ์นั้นเทวดาซูซ่อย จักได้อ่อยห้อยหน้ามาไว้อุ่นเฮือน”
“เป็นหญิงขอให้หญิงแท้ อย่าเป็นหญิงมักง่าย ยิงให้ยิงแท้ๆ แน(เล็ง)แล้วจังค่อยยิง…
…เป็นหญิงนี้ เอาผัวหาง่ายจริงฤา เอาบ่ดีบัดสิเป็นเคราะห์ฮ้ายเข็ญเข้าฮ่วมเฮือน” (อภิศักดิ์โสมอินทร์. 2537: 60,64 และ 71)เมื่อเราพิจารณาบทบาทและสถานภาพสตรีอีสานดังที่เห็นในสังคม ทั้งผ่านมิติประวัติศาสตร์และสื่อทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะคำสอนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของเพศหญิงต่อผู้ชายผ่านกาพย์กลอน ผญาวรรณกรรมต่าง ๆในท้องถิ่นซึ่งเกิดขึ้นภายในกรอบของบริบททางสังคม เช่น อินทิญาณสอนลูก ท้าวคำสอนฮีตสิบสองคองสิบสี่ ขูลูนางอั้ว เสียวสวาทดิ์ ธรรมดาสอนโลก และสีทนมโนราห์ เป็นต้น ผสมผสานกับความเชื่อในพุทธศาสนาดังปรากฏแบบแผนปฏิบัติระหว่างบุคคลในสถานะ บทบาทต่างๆซึ่งในแบบแผนปฏิบัติที่ภรรยาควรกระทำต่อสามีนั้นมีเกณฑ์มาตรฐานสังคมตั้งไว้ เช่น
“ เถิงยามแลงให้เจ้าหาพาข้าว เถิงยามเซ้าให้เจ้าแต่งพางาย(อาหารเช้า)อย่าได้นอนหลับหลายตื่นสายผิดฮีต ให้เจ้าจีบหมากไว้ประสงค์แต่งพางายเจ้ามีผัวให้เจ้าถิ่มใจเก่า ”(สมเกียรติ ภู่พัฒน์วิบูลย์ และ บุรินทร์ สุดใจ,2538:118)
อันเป็นการบอกกล่าวอบรมสอนให้หญิงมีความขยันในหน้าที่การงาน รู้สิ่งใดควรไม่ควร อันเป็น
นิสัยที่พึงปรารถนาในสังคม
“...ยามเซ้าให้เจ้าตื่นก่อนสามี เถิงราตรีให้ค่อยนอนนำก้น…
...เป็นแม่ญิงให้เที่ยงจริงคำมั่น เถิงเวลาศีลห้าให้สมมาผัวมิ่ง
เถิงเวลาพ่อแม่เจ้าป่วยไข้คือกัน...”(สมเกียรติ ภู่พัฒนวิบูลย์ และ บุรินทร์ สุดใจ,2538:118)
“ ...คุณเมียประเสริฐ ทำตนเป็นดั่งข้อยผัวใช้ช่วงตีน
เข้าและน้ำนางหากตำตัก วันคืนลุกฟ่าวมาเทียมข้าง ”
5
“ กินงายแล้วผัวนอนวีแกว่ง บ่ให้คับแคบแท้กลัวย่านตื่นตน
วันคืนมื้อขวนขวาย อุปถากปานดั่งข้อยผัวนั้นดั่งเดียว ” (อภิศักดิ์ โสมอินทร์., 2537.หน้า 79.)
หรือ “…เถิงยามนอนเสื่อหมอนให้แปงไว้ ยามกินข้าวแลงงาย เพิ่นกินก่อน นางเอย
ตั้งน้ำล้างหน้าไว้ ขันสลาพร้อมหมากพลู ตักน้ำกินน้ำใช้ให้เต็มอ่างไหไพ…
…ใผนั้นบัวระบัติ(ปรนนิบัติ)ได้ เสวยสุขเท่าชั่วชีวังแล้ว คันว่ามร(ตาย)มิ่งเมี้ยน เมือฟ้าสู่สวรรค์ นั้น
แล้ว ”(พิชัย ศรีภูไฟ,2532.หน้า 102.)
หรือหากปรนนิบัติปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้วจะได้รับการลงโทษ เป็นบาปกรรม เช่น
“ มันโลภกินเข้าก่อนผัว เลยเล่าเป็นบาปฮ้ายท้องใหญ่ปูมหลวง
ก็จึ่งมาเป็นเวรบาปทันปางนี้ ” (อภิศักดิ์ โสมอินทร์.เรื่องเดิม.2537: 54)
หากหญิงใดล่วงละเมิดจะถือว่า ‘คะลำ’ อันเป็นข้อห้ามในการกระทำแสดงออกต่างๆ หรือเป็นสิ่ง
ต้องห้าม ต้องเว้น ห้ามประพฤติปฏิบัติ ไม่สมควรที่จะกระทำ ทั้งกาย วาจาและใจ หากละเลย หรือล่วงละเมิด
จะเป็นอัปมงคล เป็นบาปกรรม ผิดฮีตผิดคอง นำความเสื่อมเสีย และอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลที่ฝ่าฝืนรวมทั้งมีผลต่อสังคมที่อยู่ด้วย เช่นนั้นคะลำจึงเป็นดังมาตรการหรือข้อห้ามในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมและเป็นกฏเกณฑ์ในการจัดความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย ซึ่งหากภรรยาล่วงเกินหรือประพฤติ
ปฏิบัติต่อสามีแล้วจะ ‘คะลำ’ อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาแล้วดูเหมือนผู้หญิงจะเป็นฝ่ายเข้าหาผู้ชายมากกว่า เช่น“ เมียนอนหัวสูงกว่าผัว คะลำ” “เมียกินข้าวก่อนผัว คะลำ”
“ เมียต้องไม่เอาอาหารที่ตนเหลือกินให้ผัวกิน คะลำ” “เมียย่าง(เดิน)เอาผ้าเอาซิ่นปัดป่ายผัว คะลำ”
“เมียบ่สมมา(ขอขมา)ผัวในวันพระวันศีลก่อนนอน คะลำ”1 เป็นต้น
จากที่กล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงวิธีการควบคุมฝ่ายหญิงในสังคมอีสาน ซึ่งดูเหมือนว่าฝ่ายหญิงจะยอมรับและปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้ชื่อว่า “เป็นหญิง” ที่เพรียบพร้อม เป็นที่ต้องการของฝ่ายชายและสังคม(ที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายกำหนด) เป็นครรลอง แบบแผนที่ควรประพฤติปฏิบัติและมีการแพร่กระจายถ่ายทอด ตอกย้ำผ่านสื่อกลางในรูปแบบต่างๆทั้งวรรณกรรม คำสอน ผญาภาษิต ซึ่งกระทำอยู่ในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน เสมือนเป็นธรรมชาติปกติจนดูเป็นเรื่องธรรมดาและเหมาะสมต่อความเป็น “หญิง” ที่เน้นความเป็น “แม่” และ “แม่บ้าน” ที่ดีในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่
เอกสารอ้างอิงคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ, สำนักงาน.สตรีศึกษา 2.กรุงเทพฯ:อรุณการพิมพ์,2544.จารุวรรณ ธรรมวัตร.วิเคราะห์ภูมิปัญญาอีสาน.อุบลราชธานี.โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซ็ท.2538.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. รัฐศาสตร์ การบริหารรัฐกิจ ทฤษฎี: หนึ่งทศวรรษรัฐศาสตร์แนววิพากษ์.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์วิภาษา, 2540.1 สัมภาษณ์นายเดช ภูสองชั้น อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 15 บ้านตาหยวก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดและนายอ่อนพลูสนาม.อายุ 82 ปี บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 2 บ้านตาหยวก ตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด . วันที่ 12-13สิงหาคม 25486ปราณี วงษ์เทศ(บรรณาธิการ). เพศและวัฒนธรรม. ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ:เรือนแก้วการพิมพ์, 2544.พิชัย ศรีภูไฟ.สตรีในวรรณกรรมอีสาน. มหาสารคาม:วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม.2532.วารุณี ภูริสินสิทธิ์. สตรีนิยมขบวนการอุดมคติแห่งศตวรรษที่ 20.กรุงเทพฯ: คบไฟ,2545.สมเกียรติ ภู่พัฒนวิบูลย์ และ บุรินทร์ สุดใจ.” คุณลักษณะของสตรีอีสานที่ปรากฎในผญา “ ใน วารสารมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 1,1-2 (ม.ค.-ธ.ค. 2538)สินิทธิ์ สิทธิรักษ์(บรรณาธิการ).ผู้หญิงกับความรู้ 1 (ภาค 2).กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2546.สุเทพ สุนทรเภสัช. ทฤษฎีสังคมวิทยาร่วมสมัย : พื้นฐานแนวความคิดทฤษฎีทางสังคมและวัฒนธรรม.เชียงใหม่:สำนักพิมพ์โกลบอลวิชั่น, 2540.อภิศักดิ์ โสมอินทร์. โลกทัศน์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 2 มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม, 2537.เดช ภูสองชั้น อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 58 หมู่ที่ 15 บ้านตาหยวก อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด วันที่ 13สิงหาคม 2548อ่อน พลูสนาม.อายุ 82 ปี บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 2 บ้านตาหยวก ตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด. วันที่ 13 สิงหาคม 2548
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น