วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

bandonradio::คำผญาเกี้ยว:บ่าวริมโขง

๓)  ผญาเกี้ยว
    เป็นคำผญา  พูดจากัน  เพื่อเป็นสื่อในการติดต่อซึ่งกันและกันนั้นคนอีสานเรียกว่า  การจ่ายผญา  บุญเกิด  พิมพ์วรเมธากุล๒๒  กล่าว่าการจ่ายผญานั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนปัญญาก่อนไม่สามารถพูดจาตอบโต้ได้ก็จะแสดงว่าฝ่ายนั้นมีภูมิปัญญาด้อยกว่าอีกฝ่าย  ฉะนั้นการจ่ายผญาจึงเป็นวิธีการทดสอบภูมิปัญญาขอบคนอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันของชาวอีสานในอดีต  ด้วยเหตุนี้คนอีสานในสมัยก่อนจึงต้องเรียนรู้ คำผญา  ไว้ให้มากที่สุด  เท่าที่จะหาได้  โดยเรียนจากพ่อแม่  ปู่ย่า ตายาย  หรือญาติพี่น้องของตนเองบ้าง  แล้วจึงไปเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่  ที่มีความรู้ในหมู่บ้านของตน  วิธีเรียนนั้นก็ใช้วิธีบอกโดยผู้เรียนต้องจำเอาตามที่ผู้สอนบอก เรียกว่ามุขปาฐะนั้นเองคำผญาที่เรียนในช่วงแรกๆจะเป็นคำผญาที่จำเป็นต้องใช้ในชีวีตประจำวัน  เช่นคำผญาเกี่ยวกับการถามข่าว  ถึงสาระทุกข์สุขของกันและกัน  ใช้ถามถึงพ่อแม่ พี่น้อง หรือถามถึงสถานภาพทางครอบครัวว่ายังโสดหรือว่ามีแฟนแล้ว จึงพัฒนามาเป็นผญาเกี้ยวระหว่างหนุ่มสาว  ใช้จ่ายผญาติดต่อกัน
    นอกจากนี้ยังมีการจ่ายผญาในประเพณีต่าง  คือประเพณี อ่านหนังสือผูก หรือในงานบุญต่างๆที่ชาวบ้านจัดขึ้น เช่น  งานงันเฮือนดี (งานศพ) งานงันหม้อกรรม( การฉลองสตรีที่อยู่ไฟหลังคลอด) เป็นต้น  ชาวบ้านจะมาร่วมชุมนุมช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจไมตรี  หรือในเวลาลวงข่วงเข็นฝ้าย ในการตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง  และในงานลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นโอกาสที่หนุ่มสาวได้พบกัน  วิสุทธิ์  บุษยกุล  ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวรรณกรรมอีสาน  ได้เล่าถึงการจ่ายผญาเกี้ยวของหนุ่มสาวชาวอีสานไว้ว่า
…ในงานวัดใหญ่ๆ  จะมีหญิงสาวจากหมู่บ้านต่างๆมาเที่ยวงาน  หญืงสาวเหล่านี้จะมารวมกันอยู่ที่ปะรำที่ทางวัดจัดไว้โดยแยกเป็นหมู่บ้าน  ส่วนพวกชายหนุ่มและไม่หนุ่ม  ทั้งหลายที่เดินผ่านไม่  หากเห็นว่าปะรำไหนมีสาวงามเป็นที่ต้องตาต้องใจตน  ก็จะแวะเข้าไปนั่งคุยแทะโลมตามแต่จะทำได้  ถ้าหากว่าหญิงนั้นเป็น “จ้าคารม”  คือมีคำคมและภาษิตต่างๆ  มากพอที่จะนำมาใช้แทนการสนทนาปราศรัยสามัญแล้วฝ่ายชายเองก็จำต้องหาสำนวนและคารมโต้ตอบ  ถ้าหากฝ่ายชายเองก็มีความรู้ในทางทัดเทียมกันการเกี้ยวพาราสีของชายหญิงคู่นั้นจะอยู่ในระดับสูง  คำพูดทุกประโยคจะมีอุปมาอุปไมยแทรกอยู่เสมอ  ผู้ฟังจะต้องคอยตีความหมายอยู่ตลอดเวลา๒๓
    สำหรับหนุ่มสาวที่มาร่วมงาน  ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ประลองคารมด้วยการจ่ายผญาเครือกัน  เป็นการสร้างบรรยากาศของงานให้เป็นที่สนุกสนานครึกครื้น  โดยเฉพาะในงานศพนั้น  ชาวบ้านจะมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านเจ้าภาพในตอนกลางคืน  ผู้เฒ่าผู้แก่จะฟังการอ่านหนังสือผูก  (เรื่องที่นิยมอ่านส่วนใหญ่จะเป็นนิทานคติธรรม  คือชาดกนอกนิบาตเช่นเรื่องการเกด  ก่ำกาดำ  ศิลป์ไชย  นางผมหอม เสียวสวาสดิ์ จำปาสี่ต้น  ผาแดงนางไอ่)  ส่วนฝ่ายหนุ่มๆก็ได้โอกาสจ่ายผญาต่อสาวที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษ
    ลักษณะทางสงคมชนบทอีสานนั้นเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม  มีระบบการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเอง  ดังนั้นจึงหน้าอันสำคัญของชายหญิงคือการทำกสิกรรมและหัตถกรรมต่างๆประเพณีการจ่ายผญาเกี้ยวของหนุ่มสาวชาวอีสานจึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิต  ช่วงเวลาที่หนุ่มสาวจะได้พบกันมาก  หลังจากเก็บเกี้ยวข้าวเสร็จคือในช่วงของฤดูหนาวและฤดูร้อน  ในช่วงนี้เองที่เป็นโอกาสอันเหมาะสำหรับชายหนุ่มจะได้ไปเยือนฝ่ายหญิงในตอนกลางคืน  จึงมีประเพณีการไปเกี้ยวสาวลงข่วงเข็นฝ่าย  ดังตัวอย่าง
สาว    บ่เป็นหยังดอกอ้ายเห็นชายมาก็อบอุ่น      ย่านแต่เพิ่นพุ่นบ่มาผ่ายกลายทาง
    อ้ายมาหยังมื้อนี้มีลมอันใดพัด              ซ่วยขจัดความในใจน้องแน่นา…อ้ายเอย
(ไม่เป็นไรหรอกพี่ เมื่อเห็นพี่มาก็อบอุ่น น้องยิ่งหวั่นว่าพี่จะเดินผ่านไปบ้านอื่น  พี่มีธุระอะไรหรือ ลมอะไรพัดมาจึงมาถึงบ้านน้อง ช่วยตอบให้หายข้องใจด้วยเถิด)
หนุ่ม    โอนอหล้าเอ้ย  การที่มามื้อนี้ความกกว่าอยากได้ฝ้าย
    ความปลายว่าอยากได้ลูกสาวเพิ่น 
อันเจ้าผู้ขันหมาแก้วลายเครือดอกผักแว่น
    สิไปตั้งแล่นแค่นอยู่ตีนส่วมผู้ใดนอ 
(น้องเอยธุระที่มาในวันนี้  ตอนแรกว่าจะมาดูฝ้ายแต่จุดหมายที่แท้จริงคือจะมาดูลูกสาวท่าน  น้องผู้เปรียบเสมือนขันหมากลายเถาผักแว่น จะได้ไปประดับในห้องนอนของใครหนอ)
    จากคำกล่าวทั้งสองบทนี้ทำให้รู้ว่าการสนทนากันต่างฝ่ายก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เป็นคำกล่าวที่เปรียบเทียบถึงความในใจของทั้งสองฝ่าย  เมื่อจ่ายผญากันไปเลื่อยๆต่างฝ่ายก็มักจะลงด้วยการพูดมาทั้งหมดนั้นก็ให้เป็นคำพูดจริงไม่หลอกล่วงกัน  ดังตัวอย่างว่า
สาว    คันบ่จริงน้องบ่เว้า    คันบ่เอาน้องบ่ว่า
    สัจจาน้องว่าแล้ว    สิม้ายม้างแม่นบ่เป็น..เด้อ้าย
(หากไม่จริงใจน้องคงไม่พูด  สัจจะของหญิงจะผันแปรไม่ได้หรอก)
หนุ่ม    สัจจาผู้หญิงนี้บ่มีจริงจักเทื่อ    ชาติดอกเดื่อมันบ่บานอยู่ต้นตนอ้ายบ่เซื่อคน..ดอกนา.๒๔  ( น้ำคำของหญิงไม่เคยพูดจริงสักครั้ง  เหมือนดอกมะเดื่อหากไมบานอยู่บนต้น  คนย่อมไม่ประจักษ์ถึงความจริง)
    ผญาที่สะท้อนให้เห็นภาพของวิถีชีวิตของสังคมชนบทอีสานในอดีตได้เป็นอย่างดี  ภาษาที่ถูกถ่ายทอดผ่านมาทางบทกวีนั้นย่อมก่อให้เกิดความบันเทิงใจหรือความสุขใจแก่ผู้ได้ฟังเสมอ  ผญาเกี้ยวก็เป็นส่วนหนึ่งในวรรณกรรมอีสานที่บรรพบุรุษได้พยายามถ่ายทอดมาสู่อนุชนรุ่นหลัง  แต่ปัจจุบันนี้ได้ลดบทบาทลงไปมาก  คนหนุ่มสาวสมัยใหม่ไม่รู้จักคำผญาเกี้ยวเหล่านี้เลยก็มี  จะเป็นเพราะวัฒนธรรมต่างถิ่นต่างภาษาเข้ามาแทนวัฒนธรรมเก่าๆ  ก็ลดความจำเป็นไป  หนุ่มสาวชอบความบันเทิงอย่างอื่นไป
    หญิงสาวในอดีตจักรู้จักรักนวลสงวนตัว  การแต่งการก็จะระมัดระวัง การจะออกนอกบ้านแต่ละครั้งก็ต้องขออนุญาติ พ่อแม่  หรือไปที่ไหนก็ต้องมีเพื่อนไปด้วย  การให้สิทธิและเสรีภาพแก่สตรีในการเลือกคู่ครองของตน  ญาติผู้ใหญ่ไม่เกี่ยวข้องด้วยมีเพียงคอยระวังมิให้ลูกสาวของตนเองเพลี่ยงพล้ำในการเลือก คือคอยสดับรับฟังว่าลูกสาวของตนติดพันอยู่กับใคร  และคอยสืบความเป็นอยู่ของผู้นั้น  ว่าดีหรือไม่ดี  ถ้าเป็นคนดีก็ส่งเสริมให้ลูกของตนผูกไมตรีไว้ให้แน่นแฟ้น  ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ให้สลัดตัดรอนเสียแต่ต้นลม  การเลือกคู่ครองนั้นโบราณอีสานมักจะสอนว่าให้เลือกคนขยัน มีปัญญา  และเป็นชายหนุ่มที่ใจกว้างนับถือวงศาคณาญาติดังมีผญาสอนหญิงว่า
    เพิ่งเอาผัวให้หาแนวปราชญ์นั้นเนอ   ใจฉลาดฮู้คลองแท้สั่งสอน
    หญิงใดได้ผัวนามปราชญ์       เป็นที่กล่าวเว้ายอย่องทั่วแดน๒๕
    (จะมีสามีให้หาท่านผู้รู้  มีปัญญาฉลาดรู้จารีตประเพณีโบราณ  หญิงคนใดได้สามีอย่างนี้  เป็นที่นิยมทั่วไป )  ผู้ชายที่รู้จักปรัชญาในการครองเรือน  หรือได้ผ่านการบวชเรียนเขียนอ่านมาแล้วจะเป็นที่หมายป้องของสตรีในอดีตมาก  เพราะเป็นคนที่มีความอดทน  รู้หลักของนักปราชญ์  ทั้งในคดีโลกและคดีธรรม  ภูมิปรัชญาท้องถิ่นอีสานนั้นมักไม่นิยมเลือกคู่ชีวิตโดยมุ่งหาแต่สาวที่สวยงาม  แต่กลับพบว่ามักจะสอนให้เลือกเอาคนที่มีความดี รู้การบ้านการเรือน รู้ธรรมเนียมของหญิง ไม่เป็นเกียจคร้าน  ดังผญาคำสอนว่า
    อันหนึ่งครั้นจักเอาหญิงให้เป็นนางใภ้ฮ่วมเฮือน
    หญิงใดฮู้ฉลาดตั้งต่อการสร้างก็จึงเอานั้นเนอ
    อันหนึ่งรู้ฮีตเฒ่าสอนสั่งตามคลอง
    การเฮือนนางแต่งแปลงบ่มีคร้าน
    หญิงนี้ควรเอาแท้เป็นนางใภ้ฮ่วมเฮือน๒๖
    ผญาเกี้ยวที่นำมาเสนอในที่นี้เพื่อการศึกษาถึงคนในสังคมอดีต  จึงมิใช่เป็นการเรียกร้องหรือเหนี่ยวรั้งภาพสะท้อนถึงวิถีชิวิตในอดีตให้หวนกลับคืนมาได้อีก  เพราะนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้อยาก  แต่เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมภาษาที่สะภาพถึงวิถีทางสังคมในปัจจุบัน นั้นคือรากฐานดั่งเดิมทางวัฒนธรรมประเพณีตลอดถึงวิสัยทัศน์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น นั้นคือความเป็นเราอย่างแท้จริง
    คำผญาเกี้ยว นี้เป็นคำที่หนุ่มสาวใช้พูดจากัน  เพื่อให้เกิดความรักใคร่ซึ่งกันและกัน  มักจะกล่าวเป็นคำกลอนคล้องจองกันเป็นคำเปรียบเทียบ  นิยมพูดถึงรูปร่างลักษณะ ฐานะ  ยศศักดิ์  ของบุคคลนั้น 

bandonradio

0 ความคิดเห็น:





กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons