๒.๒.๑ พุทธภาษิตและผญาภาษิตกับบุญ
สุภาษิตอีสานอิงอาศัยอยู่กับหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาทุกอย่าง ทั้งที่เป็นนิทานธรรมและคติธรรมตลอดถึงวรรณกรรมชาดกต่างๆ ล้วนมีแก่นแท้มาจากพุทธศาสนาที่มีความมุ่งหมายในการสอนหลักธรรมและจริยธรรมอันดีให้แก่คนเพื่อที่จะทำให้สังคมมีความสันติสุขและมีความสอดคล้องทางคติชน แนวทางการดำรงตนเองให้มีความเจริญและความสุขนั้นพระพุทธศาสนากับคำสอนอีสานมีคำสอนตามลักษณ์นี้คือ
๑ ความเชื่อเรื่องบุญ ตามนัยแห่งพระพุทธศาสนานั้น คำว่า “บุญ” เป็นชื่อของความสุข พระพุทธเจ้าสอนให้หมั่นประกอบเนื่องๆในเรื่องบุญกุศล เพราะว่าบุญเป็นธรรมชาติที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด ขจัดเสียซึ่งความตระหนี่ของตนอันจะเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนในภายหลัง ดังพุทธพจน์ที่ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายดังความมาใน ปุญญสูตร ว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวบุญเลย
คำว่าบุญนี้เป็นชื่อแห่งความสุขอันน่าปรารถนาน่าใคร่
น่ารัก น่าพอใจ…..ที่ตนเสวยแล้วสิ้นกาลนานแห่งบุญ
ทั้งหลายที่ตนได้ทำไว้สิ้นกาลนาน1
บุญกุศลทั้งหลายที่บุคคลได้กระทำไว้แล้ว นอกจากจะให้ผลเป็นความสุขแก่ผู้ที่กระทำทั้งในชาตินี้ชาติหน้าต่อๆไป บุญเป็นสิ่งที่สมควรสร้างสมเพิ่มพูนให้เกิดแก่ตนเองอยู่เสมอเพราะการสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้2 ซึ่งไม่เพียงเป็นความสุขในโลกนี้เท่านั้น บุญยังเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ในโลกหน้าอีกด้วย3 ซึ่งผลบุญนั้นไปคอยต้อนรับอยู่ก่อนแล้ว เปรียบเหมือนญาติที่คอยต้อนรับญาติอันเป็นที่รักผู้มาถึง ดังพุทธภาษิตคาถาธรรมบทในปิยวรรคที่ ๑๖ ว่า
“เรากล่าวว่าผู้มีกระแสในเบื้องบน ญาติ มิตรและเพื่อนผู้มีใจดี ย่อมชื่นชม
ต่อบุรุษ ผู้จากไปสิ้นกาลนาน กลับมาแล้วโดยสวัสดี แต่ที่ไกลว่ามาแล้ว
บุญทั้งหลาย ย่อมต้อนรับแม้บุคคลผู้ทำบุญไว้ ซึ่งละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น
ดุจญาติคอยต้อนรับญาติที่รักผู้มาแล้วแต่ไกล ฉะนั้น4
เรื่องบุญกุศลในพระพุทธศาสนาตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ยังมีอีกที่พุทธศาสนิกชนได้นำไปเป็นแนวในการสร้างบุญกุศลคือหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ5 อันประกอบด้วยการบริจาคทาน ๑ การรักษาศีล ๑ การเจริญภาวนา ๑ การแสดงความนอบน้อม ๑ การขวานขวายในกิจที่ชอบ ๑ การแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น ๑ การอนุโมทนาในส่วนบุญ ๑ การฟังธรรม ๑ การแสดงธรรม ๑ การทำความเห็นให้ถูกต้อง ๑ ตามนัยคำสอนอีสานมีหลักในเรื่องการสั่งสมบุญที่สอดคล้องตามหลักของพระพุทธศาสนาว่า
“คำว่าบุญๆนั้นเป็นชื่อแห่งความสุข ไผผู้กลัวความทุกข์ให้รีบมาทำไว้
ความสุขใจสบายบ้างหมายทางสิบังเกิด เพราะกุศลเลิศล้ำนำให้อยู่เกษม
ให้รีบตกแต่งเพิ่มสืบต่อยอยก จกเอามาทำทานหว่านพันธุ์ฝังไว้
เมื่อตายไปก็จักมีเมืองฟ้าวิมาทอง เกิดด้วยบุญพวกเจ้าคนเฒ่าให้ฮ่ำเพิง
พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าการทำบุญนั้นส่งผลให้ชีวิตมีความสุข “ปุญญํ สุขํ ชีวิตสงฺยมฺหิ” ตรงกับแนวคำสอนอีสานว่า
คราวเมื่อเฮาเพม้างวางขันธ์ดับธาตุ บุญส่วนนี้สินำยู้ช่วงซู
บุญสิซักจ่องยู้นำสู่สุคติ มีเทวานารีแห่แหนแพนด้าม
บุญสิตามนำให้ศิวิไลซ์เฮืองฮุ่ง ให้สมความมาดมุ่งลุงป้าให้ฮ่ำฮอน
ให้พวกเจ้ารีบร้อนฝักใฝ่ทางกุศล สิ่งเป็นบุญของดีให้รีบมาทำไว้
เมื่อตายไปจักได้มีนางฟ้าเทวาแหนแห่ สิได้แลหล่ำจ้องมองหน้าหมู่คนฯ
ปุพเพกตปุญญตา แปลว่า ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นฐานมาดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมไว้แต่ต้นแล้วจะส่งผลออกมาดี6 หมายความว่าได้เคยสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อนๆ อันเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลสำเร็จในทางอันตนเองปรารถนาในชาติปัจจุบัน โดยเฉพาะเป็นปัจจัยส่งผลให้สำเร็จพระอรหันต์นั้นย่อมเป็นผลมาจากกุศลมูลอันบุคคลได้เคยทำไว้แล้วในอดีต พุทธศาสนิกชนชาวอีสานมีความเชื่อฝังแน่นเรื่องบุญกรรมที่ทำแล้วมีผลให้ถึงฝั่งพระนิพพาน ดังคำสอนว่า
ให้เจ้าคึดต่อไว้ฮีตฮ่อมทางเทียว ทางไปนีระพานยืดยาวยังกว้าง
อันว่าหนทางเข้านีระพานพ้นโศก มีแต่บุญอ้อยต้อยหลานน้อยให้ค่อยทำ7
ความเชื่อเรื่องผลของบุญที่มีในคำสอนอีสานสะท้อนให้เห็นว่า การทำกรรมดีเท่านั้นถึงจะส่งผลให้ขึ้นสวรรค์ และถ้าทำกรรมชั่วมีผลเป็นความทุกข์ในภายหลัง ดังคำสอนว่า
“ไผผู้มีบุญล้นศีลทานสร้างแผ่ อันว่าความเดือดร้อนเวรนั้นกะบ่มี
อันว่าบุญๆนี้อุปมาคือช้างพลายสารตัวอาจ หากแม่นธรรมชาติเชื้อสิพาขึ้สู่สวรรค์
คันไผมีใจเลี้ยวปาโปเป็นบาป อุปมาเหมือนดังหอกดาบง้าวสินำค้ำอยู่บ่เซา
มันจักนำสนองให้ฝูงคนได้ทุกข์ยาก หากสิลงสู่พื้นในหม้อแผ่แดง8
จากคำสอนเหล่านี้แสดงถึงความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็มักจะปลอบใจตนเอง9 ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาตามนัยคำสอนอีสานว่าบุญกรรมถ้าไม่ทำเอาไว้จะมีแต่ความลำบาก ดังนั้นคำสุภาษิตจึงสะท้อนภาพรวมให้เห็นว่าคนมีบุญนั้นจะสบายในลักษณะอย่างไร ดังคำสอนว่า
“อันนี้เป็นบุญแท้ของเฮาให้ตั้งต่อหลานเอย คันว่าบุญบ่ส่งให้เขาสิใช้แต่เฮา
บุญมีได้เป็นนายใช้เพิ่น คันแม่นบุญบ่ส่งให้มันสิใช้แต่เฮา
ในแนวคำสอนนี้ส่งเสริมให้คนรู้จักที่จะทำความดีเอาไว้ ถ้าความพร้อมเพียงแห่งบุญส่งผลมาให้แล้วจะเป็นอำนาจบารมีให้คนอื่นสนับสนุนให้ชีวิตมีความเจริญก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้คืออานิสงส์ของบุญจะแผ่รัศมีออกมาในรูปแบบของความดีหลายๆทาง ดังนั้นการทำบุญจึงสอนให้ลงมือทำด้วยตัวเอง อย่านั่งรอคอยโชควาสนาจากคนอื่นมาช่วยเหลือตัวเอง ดังสุภาษิตอีสานว่า
คอยแต่บุญมาค้ำบ่ทำการมันบ่แม่น คอยแต่บุญส่งให้มันสิได้ฮ่อมใด
คือจั่งเฮากินข้าวบ่เอากินมันบ่อิ่ม คือจั่งมีลาบก้อยคันบ่เอาข้าวคุ้ยทางท้องบ่เต็ม10
มีคนไทยไม่น้อยที่เชื่อว่าความทุกข์ยากลำที่ตนประสบอยู่ในปัจจุบันชาติ เป็นผลมาจากเวรกรรมในบุพพชาติดังนั้นคนไทยอีสานจึงยอมรับผลชะตากรรมโดยไม่กล่าวโทษใคร เพราะบาปกรรมนั้นเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้คนเรามีฐานะทางร่างกาย เศรษฐกิจต่างกัน ดังพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า “ กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ” สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม การยอมรับนั้นก็เป็นทางหนึ่งที่ดีแต่ว่าแนวคำสอนทุกระบบมุ่งสอนให้รู้จักปรับเปลี่ยนวิถีชิวิตให้เดินไปในทางที่เจริญ อย่าได้เดินไปในทางที่เสื่อม เพราะอำนาจของบาป บุญนั้นจะส่งต่อไปในภพใหม่ด้วย ดังสุภาษิตอีสานว่า
อันว่านานาเชื้อ คนเฮาแฮมโลก หลานเอย
บุญบาปตกแต่งตั้ง มาให้ต่างกัน
ไผผู้ทำการฮ้าย ปาปังทางโทษ
มีแต่สาโหดฮ้าย สิมาใหม้เมื่อล้น
คำสอนที่ส่งผลให้ชีวิตตกทุกข์ลำบากนั้น มันเกิดมาจากผลกรรมก็ตาม แต่ก็เป็นผลดีอย่างคือ ทำให้มนุษย์รู้จักพัฒนาชีวิตของตนเองให้พ้นไปจากความทุกข์มุ่งสู่ความสุขได้ ให้มีความมานะอดทนต่อผลของบาปกรรมที่ทำเอาไว้ดังคำสอนอีสานว่า
ตั้งแต่พระเวสเจ้า กับนวลนาถนางมัทรี
ยังได้หนีพารา จากนครยาวเยิ้นไป
กุศลพิธี แปลว่า บุญ ความดี ฉลาด สิ่งที่ดี กรรมดีเป็นต้น กรรมดีและการกระทำดีหรือกุศลกรรมก็คือการกระทำที่เกิดเจตนาดี ซึงต่างจากอกุศลกรรมกคือการทำชั่ว เป็นเจตนาที่เป้นไปเพือ่เบียยดเขบียนผุ้อื้นใหได้รับความทุกข์ เจตาดีและเจตนาชั่วนั้นเกิดขึ้นในใจ การพิจารณาว่าเจตนาใดเป็นเจตาดีหรือชั่วจึงต้องพิจารณาถึงสภาวะในใจว่า มีเหตุผลแห่งเจตนาเป็นกุศลหรืออกุศล เรื่องนี้พระธรรมปิฏกได้ตีความกุศลและอกุศลเอาไว้ว่า
“กุศลและอกุศลเป็นสภาวะที่เกิดในจิตใจและมีผลต่อจิตใจก่อนแล้วจึงาผลต่อบุคลิกภาพ และแสดงผลนั้นออกมาภายนอก ความหมายของกุศลและอกุศลจึงเพ่งไปที่พื้นฐาน คือเนื้องหาสาระและความเป็นไปภายในจิตใจเป็นหลัก…กุศล แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชานาญ สบาย เชื่อหรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรคหรือสิ่งชั่วร้านที่น่ารังเกียจ ส่วนอกุศลก็แลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้างกันกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาดไม่สบายเป็นต้น (พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโตป พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงขยายความ(กรุงเทพฯ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) ๒๕๓๒, หน้า ๑๖๔
จากเหตุผลข้างต้นนั้น พระธรรมปิฏกให้ทัศนะว่า การกระทำที่เป็นกุศลจะต้องเป็นการการกระทำที่มีเจตนาเป็นกุศล คำสอนอีสานกล่าวถึงพิธีกรรมอันเป็นกุศลไว้มากมาย การบวชเพื่อสนองคุณค่าน้ำนมของบิดามารดา เพื่อเชื่อว่าการบวชเรียนในพระพุทธศาสนาจะตอบแทนคุณบิดามารได้หมด ดังคำสู่ขวัญนาคก่อนบวชมักจะเป็นการพรรณนาถึงคุณพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดมา ว่าท่านทั้งสองมีความทุกข์ยากลำบากอย่างไรกว่าจะคลอดบุตรออกมาและเลี้ยงลูกให้เติมโตจนอายุได้ ๒๐ ปี ครบบวชและแสดงให้เห็นว่าการสนองคุณบิดามารดานั้นมีอย่างไร และทัศนะทางพุทธปรัชญาในเรื่องการบวชมีอะไรหมอทำขวัญจะทำหน้าพรรณนาไว้ครบเพื่อเป็นการอบรมจิตใจของเจ้านาคให้ระลึกรู้คุณบุพการีของตน และสั่งสอนให้เจ้านาคหมั่นประพฤติปฏิบัติตนเองให้เป็นบุญเป็นกุศลเพื่อสนองคุณพ่อแม่ตน สอนให้รู้ว่าแม่ลำบากอย่างไรเมื่อคลอดลูก
ก่อนสิได้มาเกิดจากท้องมารดา ได้เลี้ยงมาเป็นอันยากเลี้ยงลำบากทุกค่ำคืน
แม่ทนฝืนหนักหน่วงท้อง นอนเก้าเดือนเฮ็ดล่องง่องอยู่ในครรภ์
แสนรำพันฮักห่อลูกของพ่อดั่ง ดวงตาออกจากท้องมารดาลูกเกิดมาเลิศแล้ว
เป็นเจ้านั่งเป็นสมภาร ให้ได้เป็นอาจารย์นักบวชให้ได้สวดปาฏิโมกข์
ให้เจ้าฝังในศาสน์ฉลาดเหลือคน มาเยอขวัญเอย
ให้ลือชาศาสนาของพระพุทธเจ้า ให้นาคเจ้ามีเดชะให้ชนะฝูงมาร
เป็นอาจารย์ผู้วิเศษละกิเลสหายหนี ดั่งอินทราธิราชเจ้าภูมินทร์
ทั้งแดนดินโอยอ่อนน้อย ทุกท่านพร้อมสาธุการ
ให้เจ้ามีความรู้หลื่นสมภาร ใหว้อาจารย์ทุกเมื่อเฮืองเฮื่อแก้วเงินคำ
บูชาธรรมอย่าได้ขาด ให้ฉลาดพระวินัย
ให้สดใสปานแว่น ให้ถึงแก่นคำสอน
คนสะออนชมซื่น ให้เจ้าหลื่นมนุษย์และเทวา
อย่าได้คาขัดข้อง ให้เจ้าท่องพระบาลีให้มีหวัง
ครองสืบสร้างธุระ๒ประการ เฮียนกรรมฐานให้ถี่ถ้วนครบสิ่งล้วน
๘หมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ด้วยปัญญาเร็วพลันตรัสส่อง
สมองปล่องเร็วไว้ศีลสดใส่ บ่ประมาทมีอำนาจในศาสนา
อย่าโสกาโศกเศร้า ให้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าสืบพระศาสนา
๔) สอนให้รู้หลักสัจธรรม
เจ้าจักพลัดพรากห้องเคหา จักได้ลาปิตามารดาออกไปบวช
สร้างผนวชในศาสนา เจ้าก็คิดเห็นสังขารเป็นทุกขัง
อนิจจังอนัตตาบ่มั่น เที่ยงฮู้บิดเงี่ยงไปมา
เป็นอนิจจาบ่เลิกแล้ว บ่ได้ว่าเฒ่าแก่แลชรา
ฮู้บังเกิดโรคาแลพยาธิ บ่ได้ขาดจากมรณา136
ในเรื่องการบวชนี้มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลซึ่งมีปราฏในปิณโฑลยสูตร ความว่า”
พวกเธอมาบวชอยู่ในพระธรรมวินัยนี้จุดประสงค์เพื่อทำที่สุดทุกข์ ถ้ามากด้วย
อภิชฌามีความกำหนัดในกาม มีจิตพยาบาท มีความดำริชั่ว หลงลืมสติ ไร้
สัมปชัญญะ ใจไม่เป็นสมาธิ จิตหมุนไปผิดทิศทาง ไม่สำรวมอินทรีย์
จะทำที่สุดทุกข์ได้อย่างไร คนที่มีลักษณะดังนี้ เรากล่าวว่าเขาเสื่อมจากโภคะ
แห่งคฤหัสถ์ ไม่ทำความเป็นสมณะให้บริสุทธิ์ ด้วยอุปมาเหมือนดุ้นฟื้นในที่
เผาศพติดไฟทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟื้นในบ้านก็ไม่ได้ในป่าก็ไม่ได้”(สังยุต.ขันธวรร
๑) สอนการเสียออกบวชของพระพุทธเจ้าดังนี้
หวังไปสวดบำเพ็ญศีล ดั่งพระอินทร์ถวายบาตร
พรหมราชยอพาน ถวายทานพระศรีธาตุ
คราวพระบาทออกไปบรรพชา อยู่ฝั่งน้ำอโนมา
พร้อมนายฉันท์และม้ามิ่ง ลายยอดแก้วปิ่งสิ่งพิมพา
ทั้งราหุลออกบวช ไปผนวชเป็นคนดี
เจ้ามีใจในธรรมอันล้ำเลิศ
สอนให้รู้จักฮีตวัดครองสงฆ์
ให้เจ้าเตรียมตัวบวช ให้มาเข้าผนวชเป็นสงฆ์
ให้เจ้าลงมาสมสู่สังฆา ปฏิมายอดแก้วใจผ่องแผ้วเหลือหลาย
ยามเดือนหงายอย่าได้ล่วง ให้เจ้าห่วงครองธรรมให้เจ้านำครองปู่
ให้มาอยู่จำศีลให้มากินข้าวบาตร มานั่งอาสน์นำสงฆ์ให้มาลงในโบสถ์
ละความโกรธและโทสา ให้เจ้าได้เทศนาสอนสั่ง
เมื่อใกล้วันบวชตามนิยมกันทั่วไป ผู้ที่จะบวชต้องมีดอกไม้ ธูป เทียน เที่ยวลาญาติพี่น้องและญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเป็นการแสดงความเคารพและขอขมากรรมที่ได้พลาดพลั่งล่วงเกินทั้งต่อหน้าและลับหลัง ญาติพี่น้องและญาติผู้ใหญ่นั้น ก็ขอรับขมาพร้อมให้พร ค่านิยมในการบวชลูกหลานเพื่อเป็นการสืบอายุพระศาสนาชาวอีสานเมื่อได้ลูกชายมักจะมีคตินิยมอวยพรกันว่า “ใหญ่พอบวชพ่อสิให้บวช ให้ท่องสวดคัมภีร์ เฮียนบาลีค่ำเช้าครองพระเจ้าศีลทาน”131
การบวชนาคทำให้พ่อแม่ปีติยินดีทำให้ท่านสบายใจ เพราะการบวชเป็นการสนองคุณทางจิตใจของท่าน สิ่งที่จะทำให้พ่อแม่โดยทั่งไปดีใจนั้นคงไม่มีอะไรเกินกว่าได้เห็นลูกเป็นคนดีดำเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง การบวชเป็นพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาย่อมช่วยให้ได้รับความสุขใจ ปีติยินดี ความสุขทางใจที่ได้เห็นลูกอยู่ในร่มเงาผากาสาวพัสตร์ ย่อมช่วยต่อชีวิตอายุของพระศาสนาให้ยืนยาว ชาวอีสานมีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนอย่างแรงกล้าถึงกับจัดเป็นค่านิยมอย่างหนึ่งในจารีตประเพณีประภาคอีสานเรียกว่า ”ฮีตวัด”90 จะกล่าวว่าเป็นธรรมนูญชีวิตแบบชาวอีสานก็ได้ เพราะว่าเป็นหลักสำหรับบุคคลที่จะต้องยึดถือปฏิบัติในระหว่างชาวบ้านต่อพระศาสนา ๑๔ ประการ คือ
๑) เมื่อข้าวหรือผลไม้ผลิตดอกออกผลให้นำไปถวายพระภิกษุเสียก่อนแล้วตนเองจึงบริโภคภายหลัง
๒) อย่าทำตาชั่งปลอมหรือแปลงตาชั่ง อย่าปลอมแปลงเงินตรา(อย่าจ่ายเงินแดงแปงเงินกว้าง)และอย่ากล่าวคำหยาบต่อกัน
๓) ให้พร้อมกันทำรั้วหลักและกำแพงล้อมวัดวาอารามและบ้านเรือนของตน กับให้ปลูกหอบูชาไว้ทั้งสี่มุมบ้านเรือน
๔) ก่อนจะขึ้นบนบ้านให้ล้างเท้าเสียก่อน
๕) เมื่อถึงวันพระ ๘–๑๔–๑๕ ค่ำให้ทำการคารวะเตาไฟบันใดและประตูบ้านที่ตนอาศัยเข้าออกทุกคืน
๖) ก่อนเข้านอนให้ล้างเท้าเสียก่อน
๗) เมื่อถึงวันพระให้เมียเอาดอกไม้ธูปเทียนทำการคารวะผัวของตน(ผัวที่ดี) และเมื่อถึงวันอุโบสถให้จัดดอกไม้ธูปเทียนไปถวายแด่พระภิกษุกับให้ทำการคารวะบิดามารดาปู่ย่าตายายด้วย
๘) ถึงวันพระเดือนดับ(ข้างแรม) และวันพระเดือนเพ็ญ(ข้างขึ้น)ให้นิมนต์พระภิกษุมาสวดมนต์ที่บ้านและทำบุญตักบาตรถวายทานท่าน
๙) เมื่อพระภิกษุสามเณรมาบิณฑบาตอย่าให้ท่านคอย เวลาใส่บาตรอย่าให้ถูกตัวท่านและอย่าสวมรองเท้า กางร่ม ให้ผ้าโพกศรีษะ หรือถือศาสตราอาวุธเวลาใสบาตร
๑๐) เมื่อพระภิกษุเข้าปริวาสกรรมให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปถวายท่าน
๑๑) เมื่อเห็นพระภิกษุผ่านมาให้นั่งลงยกมือไหว้แล้วจึงพูดจากับท่าน(ในข้อนี้ผู้วิจัยยังพบว่าชาวลาวยังยึดถือปฏิบัติอย่างมั่นคงอยู่ส่วนชาวอีสานก็มีบ้างท่านเท่านั้น)
๑๒) อย่าเหยียบเงาพระภิกษุสามเณรผู้ทรงศีล
๑๓) อย่านำเอาอาหารที่ตนเหลือกินไปถวายพระภิกษุสามเณร
๑๔) อย่าเสพกามคุณในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันสงกรานต์ควรสำรวมในเรื่องเหล่านี้บ้าง
เทศกาลเข้าพรรษาเป็นฤดูกาลที่พุทธศาสนิกชนมีโอกาศได้บำเพ็ญกุศลมากที่สุดคือครบทั้ง ๓ พิธี ได้แก่บุญพิธี กุศลพิธี และทานพิธีพอถึงเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าจะมีการกระตือรือร้นเป็นพิเศษที่จะบำเพ็ญกุศล บางพวกก็บำเพ็ญกุศลพิธี คือการอบรม พัฒนาจิตใจตนเองให้มีคุณธรรมประจำใจที่สูงขึ้น ได้แก่ การบวชเป็นพระภิกษุหรือสามเณร บางพวกก็เริ่มสนทนารักษาศีล ๕ และอุโบสถศีลตลอดพรรษาบางพวกก็ตั้งสัจจะอธิษฐานของดเว้นอุบายมุข เช่น สุรา การพนัน สิ่งเสพติดบางชนิดนับว่าเทศกาลเข้าพรรษาเป็นพิธีกรรมที่สามารถลดอุบายมุขลงได้ โบราณคำสอนของชาวอีสานได้กล่าวถึง การปลูกศรัทธาในการชักชวนกันไปทำบุญที่วัดและเมื่อถึงวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนาก็ชักชวนกันไปเวียนเทียนที่วัดเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อันหมายถึงกุศลพิธี ดังคำสอนโบราณอีสานว่า
(…….)
1 ขุ. อิติ. 25 /200/172-173
2 ขุ. ธ. 25/118/38
3 องฺ ปญฺจก. 22/36/36
4 ขุ. ธ. 25/26/31
5 ที.ปาฏิวรรค สังคีติสูตร/เล่ม16
6 พระราชวรมุนี(ประยุทธ์ ปยุตโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, หน้า 175
7 ดร.ปรีชา พิณทอง, ย่าสอนหลาน, อุบลราชธานี;ศิริธรรมออฟเซ็ทการพิมพ์) พ.ศ. หน้า ๖
8 ศรี วงศ์สอาด. โตงโตยธรรมกถึก,(ขอนแก่น, ) หน้า 17
9 ปรีชา คุณาวุฒิ, พุทธปรัชญาเรื่องกรรมและผลของกรรม,วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521, หน้า 53
10 ดร. ปรีชา พิณทอง. ย่าสอนหลาน. หน้า 12
136 มหาโกวิทย์ สิริวณฺโณ,มรดกอีสาน,(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย), ๒๕๓๓, หน้า ๑๒๕
90 พระมหาโกวิทย์ สิริวณฺโณ, มรดกอีสาน(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)๒๕๓๓,หน้า ๗๕
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น