ลักษณะของสุภาษิตอีสาน
ทรรศนะทั่วไป
ชาวอีสานแต่ละท้องถิ่นมีคติชนและวิถีชีวิตที่ต่างกันร่วมทั้งภาษาขนบธรรมเนียมก็ต่างกันไป ตลอดถึงความคิดความเชื่อก็ไม่ตรงกัน แต่กลับพบว่ามีสำนวนอย่างหนึ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการผสมผสานความเชื่อต่างๆให้มาเป็นสิ่งเดียวกันชาวอีสานเรียกสำนวนนี้ว่าคำ “ผญา” อันเป็นวรรณคดีที่ดีงามอย่างหนึ่งที่ชนชาวภาคอีสานมีความภูมิใจซึ่งได้ทั้งอรรถรสทางภาษา ตลอดถึงเป็นคติเตือนใจมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่น และเป็นสื่อในการถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีจากอดีตให้ดำรงอยู่และเจริญต่อไปได้
ในทางประวัติศาสตร์นั้นอาจกล่าวได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เมื่ออดีตนั้นได้อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นอาณาจักรอ้ายลาวที่เจริญรุ่งเรืองมาในอดีต โดยมีอาณาเขตแผ่มาครอบคลุมตลอดดินแดนภาคอีสานในปัจจุบัน ดังนั้นชาวอีสานจึงเป็นชนชาติที่รวมกลุ่มกันมาแต่โบราณกาล และรับเอาวัฒนธรรมประเพณีตลอดถึงอักษรที่ใช้ในอดีตเป็นของตนเอง โดยได้ยึดถือเอาหลัก ฮีตสิบสองคลองสิบสี่๑ เป็นวิถีในการดำเนินชีวิตทางสังคมตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
วิวัฒนาการของบทผญาช่วงแรกๆนั้นเป็นแบบมุขปาฐะ(Oral tradition) คือการจำต่อๆกันมาต่อมา แล้วมีการแตกย่อยคำผญาออกเป็นแขนงต่างๆอีกมากมาย คำผญานั้นเป็นภูมิปรัชญาของกวีชาวอีสานโดยแท้จริงที่ต้องการชี้ทางให้คนได้รู้จักดำรงตนให้อยู่ในกรอบของศีลธรรม ยิ่งกว่านั้นกวียังได้ช่วยผสานความสามัคคีระหว่างชนเผ่าต่างๆให้เชื่อมโยงเข้ากันได้ด้วยคำผญาต่างๆเป็นอย่างดี ตลอดถึงช่วยเป็นเครื่องปลอบประโลมใจชาวอีสานให้มีความอดทน เป็นนักต่อสู้ชีวิต ให้มีความขยันหมั่นเพียร ไม่รอคอยโชควาสนา แต่ให้ยืนอยู่บนการพึงตนเองทั้งในเชิงสังคมและในด้านเศรษฐกิจ
หลักสุภาษิตคือสื่อในการสอนจริยธรรมในชุมชนท้องถิ่นให้รู้จักประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม ให้ใช้สติปัญญาเป็นไปในความไม่เห็นแก่ตัว เพื่อความสุขของสังคมและตนเอง ตลอดถึงป้องกันความเสื่อมอันจะตามมาจากดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด อันจะนำความเดือดร้อนมาสู่สังคมและประเทศชาติ
การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนตลอดถึงคำสุภาษิตได้มากเท่าไรชีวิตย่อมเจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์มาก ไปตามกำลังความสามารถที่มนุษย์นอกจากจะให้คติธรรมเตือนใจแล้วคำสุภาษิตยังสามารถไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เพราะเป็นคำพูดที่ประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการ คือ การพูดดี ๑ การพูดเป็นประโยชน์และเป็นธรรม ๑ การพูดน่าฟังมีสาระมีเหตุมีผลที่ผู้ฟังได้ประโยชน์๑และเป็นคำพูดที่จริง ๑ คำพูดเหล่านี้จัดว่าเป็นวาจาสุภาษิต เป็นคำพูดที่ไม่มีโทษบัณฑิตทั้งหลายไม่ตำหนิ จะเห็นได้ว่าคำสอนทั้งสองแนวต่างก็เกื้อกูลเป็นคติธรรมของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จนบางครั้งสามารถเป็นกำลังใจให้คนลุกขึ้นมาต่อสู้กับอุปสรรคได้ และยังช่วยให้มนุษย์เลิกกระทำความชั่วได้
๒.๑ ความหมายของคำว่า “ผญา”
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม วรรณกรรม และนักปราชญ์ทั้งหลายได้กล่าวว่า “ผญา”หมายถึง “ปัญญา , ปรัชญา, ความฉลาด,” มีลักษณะเป็นคำภาษิตที่มีหมายลึกซึ่ง เรียกว่าผญา และคำว่า “ภาษิต” หมายถึงคำพูดที่เป็นคติ คำพูดดี1
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺสมหาเถระ) ได้ให้ความหมายว่า “ ผญาหรือผะหยา” คือปัญญา, ปรัชญา ความฉลาด ,เป็นคำพูดที่มีความหมายลึกซึ่งในเชิงเปรียบเทียบ2
จารุบุตร เรื่องสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญทางวรรณกรรมอีสานได้ให้คำนิยามว่า “ผญา” เป็นคำนาม แปลว่า ปัญญา, ปรัชญา, ความฉลาด3
ร.ศ. บุปผา บุญทิพย์ ได้ให้ความหมายของผญาว่า ผญาเป็นคำภาษาอีสาน สันนิษฐานว่ามาจากปรัชญา เพราะภาษาอีสานออกเสียงควบ “ปร” ไปเป็นเสียง “ผ” ดังในคำว่า “เปรต”เป็นเผด โปรด เป็นโผด หมากปราง เป็น หมากผาง แปรง เป็น แผง ดังนั้นคำว่า “ปรัชญา” อาจเป็น ผัชญาแล้วเป็น “ผญา” อีกต่อหนึ่ง ผญาคือคำพูดของนักปราชญ์ ซึ่งแฝงไว้ด้วยคติ แง่คิด คำพูดที่เป็นหลักวิชา อันแสดงถึงความรอบรู้ ความสามารถของผู้พูด4
อ. ธวัช ปุณโณทก ได้ให้ความหมายของคำว่าผญาภาษิตว่า หมายถึงถ้อยคำหรือกลุ่มคำที่มีความหมายให้สติเตือนใจ หรือข้อความพิเศษที่จะสั่งสอน5
สวิง บุญเจิม ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ผญา”ไว้ว่า เป็นคำคล้องจองที่นักปราชญ์โบราณอีสานคิดขึ้น เพื่อให้ในกรณีต่างๆ อาทิ ใช้ในด้านคำสั่งสอน เรียกว่า “ผญาภาษิต” หรือใช้ในการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว เรียกว่า “ผญารักหรือผญาเกี้ยว” และใช้ในกรณีที่เป็นเชิงเปรียบเทียบให้คิดเรียกว่า “ผญาปริศนาธรรม”
จากทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหลาย พอสรุปได้ว่า “ผญา” ตรงกับคำว่า “ปรัชญา ในภาษาสันสกฤตและคำว่า “ปัญญา” ในภาษาบาลี ดังนั้นคำว่า “ผญา” จึงแปลว่า “ปรัชญา, ปัญญา, หรือความรอบรู้ หมายถึงถ้อยคำหรือข้อความที่ฉลาดหลักแหลมและคมคายลึกซึ่งยิ่งนัก รวมความไปถึงถ้อยคำอันแสดงให้เห็นถึงปัญญาความรอบรู้ของผู้พูดด้วย
ข. ๒.๑.๑ ลักษณะของคำผญาอีสาน
ลักษณะของคำผญามองในด้านภาษาศาสตร์จะพบว่า ผญามีรากศัพท์มาจาก “ปัญญา”ในภาษาบาลี ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า “ปรัชญา” แต่เมื่อพูดในภาษาท้องถิ่นจะเพี้ยนมาเป็นคำ “ปร” เป็น “ผ”ซึ่งมีหลายคำเช่น เปรต ชาวอีสานออกเสียงเป็น เผด โปรดออกเสียงเป็นโผด ดังนั้นคำผญาภาษิตอีสานจึงเป็นกลุ่มคำที่มีลักษณะดังนี้คือ
๑) มีลักษณะคล้องจ้องกันในด้านสัมผัส ฟังแล้วรื่นหูมีทั้งที่เป็นกาพย์ หรือกลอน
๒) มีความหมายที่ลึกซึ่งผู้ฟังหรือผู้อ่านต้องใช้ปัญญาหยั่งรู้จึงจะเข้าใจในความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในข้อความหรือกลุ่มคำนั้นๆ
๓) เป็นหมู่คำที่แสดงออกในเชิงการมีไหวพริบปฏิภาณของผู้พูด
๔) เป็นหมู่คำที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและใช้เป็นปรัชญาในการดำเนิดชีวิตได้
ลักษณะของคำประพันธ์อีสานนั้นมี ๔ ประการ1 ซึ่งแต่ละลักษณะจะแตกต่างกันไม่เด่นชัดนัก ได้แก่ กาบ (กาพย์) โคง(โคลง) ฮ่าย (ร่าย) และกอน(กลอน) บทร้อยกรองที่เป็นที่นิยมของชาวอีสานนั้นมีอยู่ ๓ ชนิด5 คือ
๑) ชนิดที่ไม่มีสัมผัส แต่อาศัยจังหวะของเสียงสูงต่ำของวรรณยุกต์และจังหวะของคำเป็นเกณฑ์ คำผญาเหล่านี้ก็คือโคลงดั้น หรือกลอนอ่านวิชชุมาลีนั่นเอง ดังตัวอย่างนี้คือ
(ครันเจ้า) ได้ขี่ช้าง กั้งฮ่มเป็นพญา
(อย่าสู้) ลืมความหลัง ขี่ควายคอนกล้า ๒ บาทแรก
ไม้ล้อมรั้ว ลำเดียวบ่ข่วย
ไพร่บ่พร้อม แปลงบ้านบ่เฮือง ๒ บาทหลัง
บทผญาของภาคอีสานมีลักษณะที่ตัดมาจากโคลงดั้นวิชชุมาลี โดยตัดมาเพียงบาทเดียวหรือ ๒ บาท และ ๓ บาท ก็ได้ ที่นิยมก็คือมักตัดมาใช้ ๒ บาทหลังของโคลงคือบาทที่ ๓ และ ๔ เป็นส่วนมาก ลักษณะอย่างนี้ทำให้สามารถที่จะเพิ่มคำแทรกลงภายหลังในวรรคได้ซึ่งมักเป็นคำเดี่ยวมีเสียงเบาและสามารถมีคำสร้อยอยู่ท้ายวรรคได้อีก ๒ คำ ดังนั้นบทผญาก็ดี หรือรูปแบบของโคลงในวรรคกรรมลายลักษณ์ก็ดี ในยุคแรกนั้นไม่มีสัมผัสเลย แต่มาในยุคหลังก็ได้พัฒนามามีสัมผัสมากขึ้น โดยได้รับอิทธิพลมาจากร่ายและโคลงนั้นเอง
๒) ชนิดที่มีสัมผัสแบบร่าย คือใช้สัมผัสระหว่างวรรคต่อเนื่องรับกันไปเหมือนลักษณะของร่ายเกิดเป็นโคลงดั้นที่มีสัมผัสอย่างร่าย ดังตัวอย่างนี้
“ ครันเจ้า คึดฮอดอ้าย ให้เหลียวเบิ่งเดือนดาว
สายตาเฮา จวบกันเทิงฟ้า
จะเห็นว่ามีสัมผัสรับกันแห่งเดียวคือตรงคำว่า “ดาว” กับ “เฮา” ลักษณะการรับสัมผัสแบบร่ายนี้ได้พัฒนามามีสัมผัสมากขึ้นในยุคหลัง ซึ่งจะเห็นได้จากลักษณะของกลอนลำต่างๆ
๓) ชนิดที่มีสัมผัสแบบโคลง โคลงดั้นวิชชุมาลีของอีสานแบบเก่าไม่มีสัมผัส ต่อมาก็ได้พัฒนาโดยวางสัมผัสแบบโคลงอย่างของภาคกลาง มีทั้งลักษณะสัมผัสแบบโคลงดั้นบาทกุญชรและโคลงดั้นวิวิธมาลี และมีทั้งลักษณะสัมผัสแบบโคลงสุภาพ ซึ่งในตำราล้านช้างเรียกว่า “มหาสินธุมาลี” ไม่ค่อยได้รับนิยมเท่าไหร่ บทร้อยกรองในภาคอีสานได้พัฒนามาจากรูปแบบที่ยึดถือเรื่องจังหวะคำและระดับเสียงสูงต่ำเป็นเกณฑ์ โดยไม่มีสัมผัสเลยไปสู่รูปแบบที่มีสัมผัสเพิ่มมากขึ้นในยุคหลัง ด้วยเหตุนี้ โคลงห้า ผญา โคลงดั้นวิชชุมาลี (หมายรวมถึง โคลงสาร, กลอนอ่านวิชชุมาลี, กลอนอักษรสังวาส,กลอนเทศน์) และกลอนลำของอีสานจึงล้วนมีพัฒนาการร่วมเส้นทางเดียวกันมา ในขณะที่พัฒนาการอีกเส้นทางหนึ่งคือ คำประพันธ์ของอีสานที่เรียกว่า กาพย์และฮ่าย(ร่าย) ซึ่งมุ่งเรื่องสัมผัสเป็นเกณฑ์ ก็ได้มามีอิทธิพลผสมผสานกันนี้คือพื้นฐานของบทร้อยกรองที่ปรากฏในผญาของภาคอีสาน ลักษณะทั่วไปของผญาอีสานยังแบ่งออกได้อีก ๒ ประการคือ
๑) จัดแบ่งตามแบบฉันท์ลักษณ์ของบทผญา
๒) จัดแบ่งตามลักษณะเนื้อหาของบทผญา
๑) จัดแบ่งตามรูปแบบทางฉันทลักษณ์ของผญายังแบ่งย่อยออกมาได้อีก ๒ ประการคือ
๑.๑.) บทผญาที่มีสัมผัส การใช้ถ้อยคำให้เกิดความคล้องจองกันเป็นลักษณะประจำที่มีสอดแทรกในชีวิตประจำวันของชาวอีสาน หรือ ถือเป็นความนิยมในการพูด คำผญาประเภทนี้มักมีอยู่ในรูปของร้อยกรอง มีสัมผัสระหว่างวรรคติดต่อกันโดยตลอด และมีสัมผัสภายในวรรค สัมผัสในบทผญาอีสานยังแบ่งออกเป็นสัมผัสสระและสัมผัสอักษรดังนี้คือ
๑.๑.๑) สัมผัสสระ คือคำที่ผสมด้วยเสียงสระเดียวกันและเสียงตัวสะกดเดียวกัน การสังสัมผัสจะส่งระหว่างวรรคต่อเนื่องกันในผญาบางบทจะส่งสัมผัสภายในวรรคก็มี เช่น “มีเฮือนบ่มีฝา มีนาบ่มีฮ่อง มีปล่องบ่มีฝาอัด
มีวัดบ่มีพระสงฆ์ มีถ่งบ่มีบ่อนห้อย ของแนวนี้กะบ่ดี
( มีบ้านไม่ฝา มีนาไม่มีร่องน้ำ มีปล่องไม่มีฝาปิด มีวัดไม่มีพระสงฆ์ มีถุงไม่มีที่ห้อย ของเหล่านี้ก็ไม่ดี) จากผญาที่ยกมานี้ จะสังเกตเห็นว่า คำสุดท้ายของแต่ละวรรคจะส่งสัมผัสไปยังวรรคต่อๆไปอย่างต่อเนื่อง
๑.๑.๒.) สัมผัสอักษร คือคำที่มีเสียงพยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน คำที่มีสัมผัสอักษรเป็นที่นิยมมากในบทผญาอีสาน สัมผัสอักษรส่วนมากจะสัมผัสภายในวรรค และจะมีสัมผัสระหว่างวรรคบ้างเล็กน้อย เช่น
“ โมโหนี้พาโตตกต่ำ ให้ค่อยคึดค่อยต้านยังสิได้ต่อนคำ”
(ความโกรธนี้พาตัวเองให้ตกต่ำ(มีคุณค่าน้อยลง) ควรคิดให้รอบคอย จึงจะมีประโยชน์)
๑.๒.) ผญาที่ไร้สัมผัส หมายถึงบทผญาที่ไม่ได้ส่งสัมผัสต่อเนื่องกันไป ผญาชนิดนี้มีเสียงสูงต่ำของเสียงวรรยุกต์และจังหวะของถ้อยคำเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีเสียงไพเราะ เช่น
“ อย่าได้หวังสุขย้อน บุญเขามาเพิ่ง
สุขกะสุขเพิ่นพุ้น บ่มากุ้มฮอดเฮา”
(อย่าได้คิดหวังถึงความสุขจากคนอื่น สุขก็สุขของเขาไม่มาถึงเรา)
๑ (วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, ฮีตสิบสอง, (สำนักพิมพ์มหาชน,กรุงเทพฯ หน้า ๒๗)
1 ดร. ปรีชา พิณทอง, สารานุกรมไทย- อีสาน- อังกฤษ, ( อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรมออฟเซท) , ๒๕๓๒ หน้า ๕๒๕
2 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์, พจนานุกรมภาคอีสาน-ภาคกลาง, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช) ๒๕๑๕, หน้า ๕๒๕
3 จารุบุตร เรืองสุวรรณ , ของดีอีสาน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา ) ๒๕๒๐ , หน้า ๓๓๔
4 ร.ศ. บุปผา บุญทิพย์ , คติชาวบ้าน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ๒๕๓๒ , หน้า ๖๗
5 ศ. ธวัช ปุณโณทก , วิเคราะห์วรรณกรรมท้องถิ่นเชิงเปรียบเทียบ ,(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ,๒๕๔๐ หน้า ๗๐
1 จารุบุตร เรืองสุวรรณ
5 สุพรรณ ท้องคล้าย ลักษณะร้อยกรองพื้นถิ่นอีสาน, หน้า ๑๒
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น