วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะของผู้นำตามนัยสุภาษิต::bandonradio

ลักษณะของผู้นำตามนัยสุภาษิต
    สำหรับจริยธรรมของข้าราชการที่ควรนำมาใส่ใจนั้นสุภาษิตอีสานได้กล่าวถึงความเทียงธรรมในการตัดสินคดีความกันตามหลักของพระพุทธศาสนา  โดยให้ยึดหลักจริยธรรมของนักปกครองควรเว้นอคติทั้ง  ๔  ประการและให้ผู้มีอำนาจในการไต่สวนพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล  เพราะเป็นเหตุที่อาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ราชการบ้านเมืองและประชาชนด้วยดังสุภาษิตกล่าวสอนไว้ดังนี้คือ
อันว่าจอมราชาเหมือนพ่อคิงเขาแท้    จิ่งให้ไลเสียถิ้มอะคะติทั้งสี่ พญาเอย
    โทสาทำโทษฮ้ายโกธากริ้วโกรธแท้เนอ    จงให้อินดูฝูงไพร่น้อยชาวบ้านทั่วเมือง
    ชาติที่เป็นพญานี้อย่ามีใจฮักเบี่ยงพญาเอย  อย่าได้คึดอยากได้ของข้าไพร่เมืองเจ้า
น้อมคำฮ้ายแม่นบ่มี    ปากกล่าวต้านคำอ่อนหวานหูแลนา
    บ่เหล้นชู้เมียซ้อนเพิ่นแพง        บ่คึดโลภเลี้ยวลักสิ่งเอาของเพิ่นนั้น
    บ่ตั้วะบ่พางไผเพื่อนสหายกันแท้    บ่ฆ่าสัตว์ประสงค์เว้นอินดูสัตว์มากยิ่ง
    บ่คึดโลภเลี้ยวจาต้านให้เบี่ยงความ    บ่ลามกหยาบซ้าเกินฮีตครองธรรมแลนา
    บ่กินสุราเหล้าเอาต้นเว้นขาด        กรรมแปดจำพวกนี้ไผเว้นประเสริฐดี 197
(อันว่าจอมราชาเป็นเสมือนพ่อของประชาชน  จึงให้ปล่อยทิ้งอคติทั้งสี่  และโทษร้ายตลอดถึงความโกรธอย่าได้มี  จงให้มีแต่ความเอ็นดูต่อชาวประชาชนชาวเมืองทั้งหลาย  การเป็นเจ้าปกครองเมืองนี้อย่าให้มีจิตใจลำเอียงพระยาเอย  อย่าได้คิดอยากได้สิ่งของชาวบ้าน  ละอคติทั้งสี่นี้ได้ควรที่จะเป็นคนปกครองบ้านเมือง  ทั้งสมบัติครองเมืองโดยชอบธรรม  อีกอย่างหนึ่งจิตใจต้องอ่อนน้อมคำพูดต้องไพเราะความโกรธอย่ามี  ไม่เล่นชู้กับเมียคนอื่น  ไม่คิดโลภอยากได้สิ่งของผู้อื่น  ไม่โกหกต่อเพื่อนสหายกันแท้  ไม่ฆ่าสัตว์ทั้งหลายแต่ควรมีความเอ็นดูสัตว์มากยิ่ง  ไม่คิดโลภเลี้ยวคำพูดไม่จริง  ไม่ลามกหยาบช้าแต่ควรประพฤติตามธรรมนองคลองธรรม  ไม่ดื่มสุราควรนำตัวเองให้เว้นเสีย  กรรมแปดประการนี้ใครเว้นได้ประเสริฐดี)  การบริหารราชการบ้านเมืองตามนัยสุภาษิตคำสอนนี้นำว่าใช้มีคุณประโยชย์มากมายยิ่งนัก  ถ้านักรัฐศาตร์ทั้งหลายใช้ก็จะไม่เกิดปัญหาวุ่นวายในบ้านเมือง  และยังมีสุภาษิตที่ได้กล่าวถึงว่านักปกครองควรมีคุณสมบัติอย่างไรอันจะนับว่าเป็นจริยธรรมในการบริหารงานตามแนวคำสอนอีสาน  คือ เมื่อได้เป็นผู้ใหญ่มีบริวารห้อมล้อมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง  อย่าได้พูดจาโอหัง  ให้รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา  และให้รู้จักแบ่งปันความสิ่งของให้แก่ลูกน้องและบริวารอื่นๆด้วย  เวลาเกิดภัยอันตรายมาบริวารจักได้ช่วยกันป้องภัยให้เป็นไปตามหลักการสงเคราะห์กันเพื่อเชื่อมมิตรไมตรีจิตอันดีต่อกันเอาไว้  ดังคำกลอนสอนไว้ว่า
    คันว่าเฮาหากได้ทรงอาจเป็นขุน        มวลทาสาแห่แหนหลังหน้า
    อย่าได้วาจาเว้ายอโตโอ้อ่ง        พลไพร่พร้อมเมืองบ้านจึ่งบาน
    ยามเมื่อเฮาหากได้ผ้าผ่อนแพรพรรณ    โภชนังมีพร่ำมวลเงินใช้
    จ่งได้ปุนปันให้ทาสาน้องพี่    แลเหล่ามิตรพวกพ้องสหายเกลอ
    ยามเมื่อต้องภัยเภทอันตราย        ทั้งมวลจักช่วยปองปุนป้อง
    เทียมดั่งเฮือนเฮาสร้างหลังสูงกว้างใหญ่        ยังเอาเสาแก่นไม้มาล้อมแวดวัง202
(ถ้าว่าเราได้เป็นขุนนางปวงทาสาล้อมรอบข้างทั้งหน้าและหลัง  อย่าได้ใช้วาจาพูดยกตนว่ามีอำนาจเหนือกว่าเขา  ประชาราษฎรและชาวเมืองช่วยเหลือจึงเจริญก้าวหน้าได้  เวลาเมื่อเราได้เครื่องนุ่งห่มและอาหารควรแบ่งปันแก่ญาติพี่น้องและผู้อื่นตลอดถึงมวลหมู่มิตรสหายทั้งหลาย  เวลามีอันตรายมาถึงตัวปวงมิตรจะค่อยช่วยเหลือปกป้องให้พ้นอันตราย  เปรียบดั่งเรือนเราสร้างหลังสูงใหญ่ยังมีเสารอบเป็นที่ยึดเอาไว้)  หมายถึงว่าเมื่อคนได้เป็นใหญ่หรือได้รับราชการไม่ควรยกอำนาจมาข่มเหงรังแกราษฎร  เมื่อมีทรัพย์สินก็ควรแจกแบ่งปันกันบ้างช่วยเหลือผู้ยากจนหรือคนลำบาก  เพราะเขาเหล่านั้นเองจะช่วยปกป้องบ้านเมืองเมื่อมีศึกสงคราม  นับว่าเป็นหลักจิตวิทยาในการบริหารงานบุคคลอย่างดี  คือใช้หลักธรรมนำอำนาจของผู้บริหาร  แต่บ้างครั้งก็อาจจะตัดสินคดีความอะไรที่ชอบลำเอี้ยงแก่คนใกล้ชิด  และสุภาษิตอีสานยังได้กล่าวถึงหลักกฏหมายต่างๆของผู้อื่นนั้นไม่ควรนำมาตัดสินแก่บุคคลในบ้านตนเอง  เพราะอาจจะไม่เหมือนกันดังคำสอนได้กล่าวไว้ดังนี้คือ
    ฝูงหมู่ขุนเมืองแท้พิจารณาคุณและโทษก็ดี  ให้เอาตามฮีตบ้านเมืองแท้แห่งโต
    ในโลกนี้ฮีตบ่อห่อนเสมอด้ามดั่งกันแท้ดาย  อย่าได้เอาครองเมืองเพิ่นมาเป็นเค้า
    เป็นขุนนี้ว่าความให้มันแน่จริงเทอญ   อย่าได้เห็นแก่สาวใช้โคตรวงศ์แท้ดาย
    เป็นขุนให้คะนิงใจปานพ่อเขาเทอญ   อย่าได้ฮักฝ่ายพุ้นซั่งพี้บ่ดีแท้ดาย
    อันหนึ่งโกรธาร้ายอย่าได้ทำตามคำเคียด  ให้พิจารณาถี่ถ้วนเสียแล้วจึงทำ
    อันหนึ่งฟังหมู่ขุนเฒ่าพิจารณาคุณโทษก็ดี  ให้เอาตามฮีตบ้านเมืองแท้แห่งโต
    ในโลกนี้มีฮีตห่อนเสมอกันแท้ดาย    ฝูงใดเอาคองเพื่อนมาหลงเค้า
    เป็นขุนให้จาความให้มั่นแน่ จริงเทิน   อย่าเห็นแก่ใกล้ฝ่ายไส้โครตวงศ์แท้ดาย
    โตหากเทียวทางไกลปักตูเรือนซิฮ้อน  อย่าได้ปบแล่นปลิ้นคืนแท้อยู่หลังเพิ่น
    ครั้นว่าความให้ตัดไปด้วยซื่อ    ทางงูอย่าให้เคียดทางเขียดอย่าให้ตาย
    ก็จึงมิ่งมังคละเข้าขุนพิจารณ์    โสภาพ จริงแล้ว 199
(ฝูงหมู่ขุนเมืองแท้พิจารณาคุณและโทษก็ดีให้เอาตามระเบียบบ้านเมืองของตนเอง  ในโลกนี้ระเบียบไม่ค่อยเสมอกันสักอย่าง  อย่าได้เอาระเบียบบ้านอื่นมาเป็นกฎหมายของตน  เป็นข้าราชการนี้ว่าคดีความให้เอาข้อเท็จจริงมาพูด  อย่าได้เห็นแก่สาวรับใช้ตนเอง  เป็นขุนนี้ให้คำนึงถึงใจของคนอื่นเหมือนเป็นพ่อของเอา  อย่าได้รักฝ่ายข้างนั้นข้างนี้แล้วลำเอียงไม่ดี  อีกอย่างหนึ่งให้ฟังขุนผู้อาวุโสเมื่อพิจารณาคดีความให้ถือเอาตามระเบียบบ้านของตัวเองมาตัดสิน  เพราะระเบียบกฎของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน  ขุนใดเอากฎระเบียบผู้อื่นมาตัดสินอาจทำให้หลงลืมระเบียบของตนเองจนไม่มีความยุติธรรมไม่ดี  เป็นขุนให้พูดแต่คำสัตย์จริง  อย่าได้เห็นแก่คนใกล้ชิดหรือญาติพี่น้องตนเอง  เมื่อเวลานานไปตัวเองจะลำบากได้ถ้าตัดสินไม่ยุติธรรม  มีความผิดอย่างไรให้ว่าไปตามความจริงนั้นจึงจะเหมาะสมจึงจะเป็นมงคลแต่แก่ตัวเองด้วยความอ่อนโยน)  ความยุติธรรมเป็นหัวใจของระบบบ้านเมืองทั้งหลาย  มีกฎหมายมาก็เพื่อผดุงความเที่ยงธรรมให้แก่ปวงชนทั้งหลาย  ไม่ให้เอาอำนาจของตนเองไปรังแก่ประชาชน  ดังสุภาษิตอีสานสอนให้ข้าราชการตระหนักในเรื่องนี้  คือ
ชาติที่เป็นใหญ่เจ้าอย่าเบียดคนทุกข์ เจ้าเฮย  ให้ค่อย กุณาฝูงไพร่เมืองคนไฮ้
เห็นว่า เป็นใหญ่แล้วใจผอกอธรรม    ไผบ่พ่นเพียงตัวเมื่อมีกำลังกล้า
เป็นเจ้าให้ฮักไพร่ทั้งหลาย    เป็นนายคนให้ฮักสหายและหมู่
เป็นกวนให้อักลูกบ้าน        คันซิต้านให้ค่อยเพียรจา
อันว่าเป็นพระยานี้หาไผจักเอาโทษบ่มีแล้ว  มีแต่เวรบาปเข้าใจเจ้าหม่นหมองนั้น
กับทั้งเทวดาอินทร์พรหมสวรรค์โลกเทิงพุ้น     มาให้โทษแก่เจ้าจอมไท้ ก็จิงมีนั้นแล้ว
เป็นพระยาให้อิดูสัตว์ทุกหมู่จิงดีดาย    กรุณาคนทุกไฮ้ชาวบ้านไพรเมืองนั้น
มธุวาจาต้านคำควรให้หวานยิ่งจริงเทอญ            อุเบกขาดีและฮ้ายฉันใดแท้ให้ค่อยฟัง20
(การเป็นข้าราชผู้ใหญ่เจ้าอย่าได้เบียดเบียนคนทุกข์  ให้มีความกรุณาต่อประชาชนคนลำบาก  เห็นว่าเป็นผู้มีอำนาจแล้วใจเจ้าอย่าลำเอียง  ใครไม่พ้นเมื่อตัวเองมีกำลังอำนาจ  เป็นขุนนางให้รักไพร่ชาวบ้านทั้งหลาย  เป็นนายคนให้รักเพื่อนๆและสหายตน  เป็นผู้ใหญ่บ้านให้รักลูกบ้าน  ถ้าจะพูดอะไรให้ค่อยพิจารณาให้รอบคอบจึงพูดไป  เป็นขุนนางไม่มีใครจะลงโทษได้  มีแต่เวรกรรมเท่านั้นจะลงโทษ  อีกกับทั้งเทวดาอินทร์พรหมบนสวรรค์  จะมาให้โทษแก่เจ้าจอมราชานั้นแล้ว  เป็นเจ้าเมืองให้เอ็นดูสรรพสัตว์จึงดีแท้  กรุณาต่อคนทุกข์และชาวบ้านทั้งเมืองจึงควรแท้  คำพูดควรให้ไพเราะอ่อนหวานจึงควร  ความดีหรือไม่ดีเข้ามาให้วางใจเป็นกลางๆแล้วจึงค่อยตัดสิน)  สุภาษิตคำสอนในวรรณกรรมอีสานหลายเรื่องได้พูดถึงลักษณะของผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร  และได้วางกฎเกณฑ์ทางด้านสังคมไว้ด้วย  ดังคำว่า  “ท้าว”215  เป็นคำเรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในสมัยโบราณ  เช่น  ท้าวอุปฮาด หรือเจ้าอุปราช  ท้าวราชบุตร หรือ เจ้าราชบุตร  แม้เจ้าผู้ครองเมืองบางเมืองก็เรียกว่า  “ท้าว” และลูกเจ้าเมืองก็เรียกว่า “ท้าว”เช่น ท้าวสุริยวงศ์เป็นต้น  และคำว่า  “ท้าว”เป็นคำเรียกชื่อของผู้เป็นเชื้อสายขุนนางก็มี  จะมีมากในวรรณกรรมของอีสาน  ส่วน “เพีย” เป็นคำนำหน้าข้าราชการหรือขุนนางแต่โบราณเช่นกัน  การปฏิบัติตามธรรมคลองธรรมก็คงอนุโลมตาม  “ฮีตเจ้าคองขุน” หรือตามจารีตที่ตระกูลเคยปฏิบัติมาโดยยึดหลักธรรมตามพระศาสนาเป็นที่ตั้ง  หากผู้ปกครองบ้านเมืองตลอดราชบริพารไม่ปกครองโดยธรรม  ก็จะทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนเดือดร้อนดังคำโบราณว่า
คันสิเป็นขุนให้ถามนายชั้นเก่า    อย่าได้ยาวลืนด้ามคำเฒ่าแต่หลัง
    คันสิกินปลาให้ซอมดูก้างดูก        บาดว่าดูกหมุ่นค้างคอไว้บ่ลง
    ให้ค่อยไขระหัสต้านจาหวานเว้าม่วน    คำจริงจึ่งเว้าคำฮ้ายอย่าได้จา
    ให้ค่อยมีฉบับเว้าหวานหูอ้อนอ่อน    ประชาชนจึ่งย่องยอขึ้นส่าเซ็ง
    อันนี้คือดั่งดังไฟไว้ เอาฝอยแถมตื่ม    เดือนดำไฟบ่ได้ บ่มีฮู้ฮุ่งเห็น
    ให้ค่อยโลมวาดเว้าเสมอดั่งสัพพัญญูนั้นเนอ  อินทร์พรหมทั้งเทพาก็เหล่าโมทนาน้อม207
(ถ้าจะเป็นขุนนางที่ดีให้ถามข้าราชเก่าก่อน  อย่าได้ล้วงเกินคำสอนของผู้เฒ่าแต่ก่อนเก่า  ถ้าจะกินปลาให้พิจารณาดูกระดูก่อน  ถ้ากินไม่ดีกระดูกจะติดคอ(ให้พิจารณาตามหลักวิชาการให้รอบคอบก่อนแล้วค่อยลงมือทำ) ให้ค่อยแก้ไขคำไม่ดีด้วยการพูดจาอ่อนหว่าน นำเอาความจริงมาพูดแต่สิ่งไม่จริงอย่าเอามากล่าว  ให้ค่อยมีจิตวิทยาในการพูดให้ไพเราะและจริงใจประชนจึงจะยกย่องสรรเสริญ  สิ่งนี้เปรียบดั่งก่อไฟให้คอยเอาฟื้นเข้าเพิ่มเติม  เดือนมืดก็จะสว่างได้ด้วยแสงไฟ  เปรียบเหมือนข้างแรมมองไม่เห็นอะไร(คือการปกครองนั้นควรเอาใส่ใจต่อราษฎร์และการงานของตนเหมือนนำฟื้นเข้าใส่ไฟ)  ให้ค่อยพูดจากันยกเหตุผลมาอ้างเหมือนเช่นพระพุทธเจ้า  ถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งอินทร์พรหมทั้งหมู่เหล่าย่อมอนุโมทนาด้วย)   การบริหารก็ต้องมีทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาในสุภาษิตอีสานนี้มักจะมีคำว่า  “นายกับบ่าว”  อันเป็นสำนวนการประพันธ์ของกวีเพราะมองเห็นภาพได้ง่าย  สิ่งอันนับว่าเป็นจริยธรรมของนายและบ่าว
       คำว่า “ไพร่”  หมายถึงไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินหรือประชาชนโดยทั่วไป  มีประเพณีกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมือง  และตามคำสั่งของเจ้านายมีการทำงานโยธา  และข้าราชการทหารเป็นต้น  สำหรับ “คองนาย”  ผู้เป็นนายก็ต้องปฏิบัติตามกบิลเมืองและหน้าที่  ไพร่กับนายต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน  ดังคำสุภาษิตสอนว่า
    เป็นขุนนามบ่าวไพร่อ้อมข้าง        ก็อย่าอวดอ้างยอโต
    คันได้เป็นใหญ่แล้วอย่าลืมคุณพวกไพร่    คันว่าไพร่บ่พร้อมสีหน้าบ่เฮือง
    ไม้ลำเดียวล้อมฮั้วบ่ข่วย        ไพร่บ่พร้อมเมืองบ้านบ่เฮือง
    คันได้นั่งบ้านเป็นเอกสูงศักดิ์    อย่าได้โวๆเสียงลื่นคนทั้งค่าย
    ชื่อว่าเป็นนายนี้ให้หวังดีดอมบ่าว     หากบ่าวบ่พร้อมซิเสียหน้าเมื่อเดิน
    บัวอาศัยเพิ่งน้ำปลาเพิ่งวังตม    ไพร่กับนายก็เพิ่งกันโดยด้าม
    ได้เป็นนายแล้วให้หลิงดูพวกไพร่แด่เดอ    ไพร่บ่ย่องสีหน้าบ่เฮืองได้แหล่ว
    เป็นเจ้าให้ฮักพวกไพร่        เป็นนายใหญ่ให้ฮู้จักฮักบริวาร
    เป็นสมภารให้ฮู้จักฮักจัวน้อย    เป็นนายพันนายฮ้อยให้ฮักพลทหาร
(เป็นขุนนางเมื่อบ่าวไพร่ล้อมข้างก็อย่าได้อวดอ้างอำนาจ  ถ้าได้เป็นใหญ่แล้วอย่าลืมคุณพวกไพร่ถ้าว่าไพร่ไม่สนับสนุนส่งเสริมสีหน้าไม่สดใส  เหมือนไม้ลำเดียวล้อมรั่วบ้านไม่แข็งแรง  ถ้าไพร่ไม่ช่วยเหลือบ้านเมืองก็ไม่เจริญก้าวหน้า  ถ้าได้ปกครองบ้านเมืองมีอำนาจสูง  อย่าได้พูดอวดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นๆ  เป็นนายคนให้หวังดีต่อบ่าวไพร่ประดุจดั่งญาติมิตรของตน  เหมือนเข่นบัวอาศัยเกิดจากน้ำปลาก็ได้อาศัยอยู่ในหนองน้ำ  เหมือนนายกับบ่าวก็พึ่งพาอาศัยกัน  ได้เป็นเจ้านายแล้วให้เอ็นดูพวกไพร่  ถ้าไพร่ไม่ยกย่องใบหน้าไม่สดใส  เป็นเจ้าคนให้รักลูกน้อง  เป็นนายคนให้รักบริวารของตน   เป็นท่านสมภารให้รักสามเณร  เป็นนายพลนายร้อยให้รักพลทหาร)
คือคนทุกชนชั้นไม่ว่าไพร่หรือเจ้านายก็ต้องยอมรับข้อปฏิบัติเช่นเดียวกันกับชาวบ้าน  นั้นคือ ความยุติธรรม  ความสามัคคี  ความอ่อนน้อมต่อผู้อาวุโส  ความกตัญญู  ความดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม  ความเมตตารู้จักการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ความเป็นคนไม่ประมาท  ไม่มีอคติทั้งสี่  มีสัจจะ  มีบริจาค ให้ทานและไม่เบียนเบียนผู้อื่น  ละความโกรธและมีขันติธรรม  มีใจหนักแน่น  รู้จักช่วยเหลือกันและกันระหว่างเพื่อนบ้าน  ฯลฯ
    ผู้ปกครองคือผู้ที่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง  ซึ่งหมายรวมทั้งเจ้าเมืองและขุนนางเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย  ในวรรณกรรมคำสอนภาคอีสานจะพบมากก็  คำว่า  “ขุน” อันหมายถึงผู้ปกครอง  บ้างครั้งก็เรียกว่า  “พระยา”  ดังนั้นจริยธรรมสำหรับผู้ปกครองมีหลายเรื่องคือ  ชะนะสันธราชยอดคำสอน  พญาคำกองสอนไพร่  สิริจันโทยอดคำสอน  ปู่สอนหลาน  และย่าสอนหลาน ตลอดถึงจริยธรรมตามแนวปกครอง  ๑๔  ประการของอีสาน(ครองสิบ  ๑๔ )คือคลองสิบสี่  คือระบบการปกครองของอีสานตั้งแต่สมัยโบราณ  คลองสิบสี่นี้กล่าวถึงหลักการที่พระมหากษัตริย์จะปกครองบ้านเมืองโดยให้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  มีการแต่งตั้งเสนาอำมาตย์ผู้มีความรู้ความซื่อสัตย์สุจริตให้ปกครองบ้านเมือง  ให้ผู้มีอำนาจทางบ้านเมืองได้ตระหนักถึงระบบธรรมเนียมและจารีตที่ถูกที่ควรทำและควรเว้น  เพื่อให้ประชาราษฎร์ได้อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้ากัน ซึ่งมีการแต่งตั้งให้ผู้ที่มีความรู้และซื่อสัตย์สุจริต  และมีความจงรักภักดี  เคารพยำเกรงและขยันหมั่นเพียรให้เป็นฝ่ายบริหารบ้านเมือง  หรือให้เป็นเสนาอำมาตย์  และอุปฮาดราชมนตรี  เพราะข้าราชการที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและขยันในการการบ้านเมืองนั้นย่อมเป็นเหตุที่ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า  และประชาราษฎร์มีความสุขไปด้วย  ดังคำสอนในครองที่  ๑  ว่า
    เป็นพญาครอบครองเมืองบ้าน    ต้องฮู้จักการตั้งทนายคนชอบ
    ผู้ช่วงใช้ให้คนฮู้ฉลาดครอง      ต้องให้ฮู้จักระเบียบพรหมวิหาร
    การงานตรงอย่างคดงอขอเคี้ยว    สุจริตตั้งจีรังกาลพวกไพร ฯลฯ
    (เป็นเจ้าปกครองบ้านเมืองต้องรู้จักการตั้งคนสุจริต  และผู้รับใช้ที่ฉลาดในจารีตประเพณีให้รู้จักหลักของพรหมวิหาร  ทำงานอย่างตรงไปตรงมาอย่าคดโกง  ให้ตั้งตนอยู่ในสุจริตธรรมในการปกครองราษฎร) เป็นหลักสุจริตธรรมโดยแท้  จะเห็นได้ว่าหลักบริหารงานบุคคลในสมัยโบราณนั้นหวังตรงที่ความเที่ยงธรรม  อย่าให้มีความอยุติธรรม  ดังสุภาษิตนี้ว่า  ”บ่อนสูงให้ฮ่ำบ่อนต่ำให้ย่อ    บ่อนบ่พอให้ตื่ม”1(ที่สูงให้ทอนลงมาให้เสมอที่ต่ำให้ยกพื้นให้เสมอกัน  ที่เป็นเสมอกันให้เพิ่มเติมลงไป)  หมายถึงการที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องใช้ความเที่ยงธรรมในการบริหารราชการบ้านเมืองให้มีความสุขสงบได้ต้องรู้จักที่สูงคือผู้มั่งมีให้รู้จักให้ผู้ที่ยากจนบ้าง  และที่ลำบากต่างๆให้ช่วยเหลือเขาบ้างคือให้เพิ่มเติมปัจจัย  ๔  ให้แก่ราษฎรนั้นเอง  อย่าให้เป็นอย่างสุภาษิตนี้เลย “ ผู้กิน  กินพอฮาก  ผู้อยาก  อยากพอตาย”2 หมายถึงผู้ที่มีทรัพย์มากก็ยิ่งมีมากมายขึ้นไปอีกเปรียบเหมือนคนกิน  กินจนจะสำรอกออกมา  ส่วนคนจนทรัพย์อับปัญญานั้นอยากจะกินก็ไม่มีกินนั้นเอง  ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาทางการบริหารนั้นคือ  ปัญหาการคอรัปชั่น ดังสุภาษิตที่ว่า  “ ปลาใหญ่กินปลาน้อย  ปลาส้อยกินปลาซิว” 3  เป็นกินตามน้ำคือผู้ใหญ่ก็กินมากผู้น้อยกินน้อยลงมาตามลำดับ  เป็นต้นการให้เสนาอำมาตย์  ตลอดทั้งอุปฮาด  ราชมนตรีหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์  ช่วยกันบริหารบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองขจัดปัดเป่ามวลศัตรูหมู่อมิตรและอุปสรรคที่เกิดขึ้น  เพราะการหมั่นประชุมกันก็ดี  การสมัครสมานสามัคคีกันก็ดี  ยังให้เกิดความเจริญก้าวหน้าด้วยกันทุกฝ่าย  ดังคำสอนที่ปรากฏในครองที่  ๒  ว่า
    เป็นพระยาให้ปองใจด้วยคูณคลองอันชอบ    ทศราชตั้งธรรมนั้นบ่เลิกถอน
    บ่ให้ไพร่เดือดฮ้อนตั้งอยู่ในธรรมสิบ  (เป็นเจ้าเมืองให้มีจิตใจเต็มด้วยความเมตตา
และด้วยคุณธรรมของนักปกครองคือทศพิศราชธรรมอย่าให้ยกเลิก  จึงจะไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน ) หมายถึงผู้เป็นประมุขของประเทศควรตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม  ๑๐  ประการคือ  ดังคำสอนนี้คือ
    มีทานศีลตั้งไว้ในเจ้าบ่ได้ไล    กับทั้งเมตตาตั้งไว้กรุณาสิบสิ่งนั้นแล้ว
    ตัปปังพร้อมอะโกธังบ่เชิงเคียด    อะวิหิงสาบ่กล่าวต้านคำส้มใส่ไผ
    อะวิโรธนังให้มีใจตั้งต่อ    มุทุตาช่างเว้าอุเปกขาเจ้าบ่ห่อนไห
    พระก็ทศราชแท้ตั้งอยู่ตามคอง    บ่มีใจโมโหแก่เขาขุนข้า3
(มีทานศีลตั้งไว้ในจิตใจเจ้าอย่าทิ้ง  อีกทั้งมีเมตตาและกรุณาให้ได้สิบประการ  มีการบำเพ็ญตบะและความไม่โกรธเกลียดชั่งใครให้มีอวิหิงสาไม่กล่าวใส่ร้ายใคร  อวิโรธนัง  ให้มีใจตั้งต่อการประพฤติสุจริตธรรม ให้มีความอ่อนโยนและมีใจวางเฉยเป็นธรรม พระมหากษัตริย์แท้ตั้งอยู่ตามครองธรรมไม่มีใจโกรธต่อข้าราชการและประชาชน)  ดังคำสอนนี้ว่า
    เป็นชาติเชื้อเจ้าเจื่องจอมเมือง    ปุนปองปกไพร่ไททั้งค่าย
    พลเมืองมั่นหมายใจได้เพิ่ง    ทางจักหายเดือดฮ้อนบุญเจ้าบ่เบา
    ควรที่พระเทียงมั่นทศพิธรรมา    ดังจักขอไขแขแต่พอเพียงน้อย
    เป็นจอมเจ้าเหนือหัวให้ฮักไพร่    เป็นใหญ่พ้องหัวหน้าให้ฮักฝูง
    เป็นผู้เฒ่าให้ฮักลูกหลานเหลน    เป็นขุนกวนให้ฮักบ้านเมือง
(เป็นชาติเชื้อเจ้าเจื้องจอมเมืองปกป้องปกครองไพร่ประชาราษฎร์ทั้งหลาย  พลเมืองหวังใจได้พึ่งพาอาศัยความชั่วร้ายทั้งหลายจักหายไปด้วยบุญบารมีเจ้า  ควรที่พระเที่ยงมั่นในทศพิศราชธรรมดังจักขอกล่าวเพียงเล็กน้อย  เป็นจอมเจ้าเหนือหัวให้รักไพร่  เป็นใหญ่ผู้หัวหน้าให้รักเพื่อนๆ  เป็นผู้เฒ่าให้รักลูกหลานเหลน  เป็นข้าราชการให้รักบ้านเมืองตน )  ดังคำสอนในคุณธรรมของผู้ปกครองประเทศชาติควรยึดถือปฏิบัติ 

bandonradio

0 ความคิดเห็น:





กำเนิดโยคะ [ Origins of YOGA ]


โยคะ เกิดขึ้นที่อินเดียเมื่อประมาณ 4 - 5 พันปีที่ผ่านมา เดิมจะเป็นการฝึกเฉพาะโยคีและชนชั้นวรรณะพราหมณ์
เพื่อเอาชนะความเจ็บป่วย ต่อมาโยคะได้พัฒนาผ่านลัทธิฮินดู มายุคพุทธศาสนา ถึงยุคลัทธิเซนในประเทศจีน
โดยแท้จริงแล้ว โยคะไม่ได้เป็นศาสตร์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เป็นศาสตร์สากลที่ศาสนาต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดแห่งศาสนานั้น ๆ โยคะจึงเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะ หะฐะโยคะ( Hatha Yoga )
ซึ่งจัดว่าเป็น Modern Yoga ที่พัฒนามาจากการรวมแบบโยคะดั้งเดิม กับวิธีปฏิบัติของพระพุทธศาสนา



ความหมายของโยคะ [ Meaning Of YOGA ]

โยคะ หมายถึง การสร้างความสมดุลของร่างกาย-จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยรวมให้เป็นหนึ่งเดียว
หะฐะโยคะ (HATHA YOGA) เป็น 1 ในสาขาโยคะทั้งหมด หะฐะโยคะ จะใช้ศิลปการบริหารร่างกาย ภายใต้การควบคุมของจิตใจ
เกิดความสมดุลของพลังด้านบวกและด้านลบ โยคะจึงช่วยบรรเทาและบำบัดโรคได้
หะฐะโยคะ จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเห็นความสำคัญของ สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี



โยคะท่าพื้นฐาน

ท่านมัสการ




ความหมาย


• นมัสการ หมายถึง ทำความเคารพ



วิธีปฏิบัติ


• ยืนหันหน้าไปทางพระอาทิตย์ เท้าชิด พนมมือ

• หายใจเช้าและยกแขนขึ้น ค่อยๆ เอนตัวไปข้างหลัง ยื่นแขนเหนือศีรษะ

• หายใจออกช้าๆ เอนตัวไปข้างหน้า ให้มือที่พนมอยู่สัมผัสพื้นจนกระ ทั่งมืออยู่ในแนวเดียวกับเท้าศีรษะสัมผัสหัวเข่า

• หายใจเข้า ก้าวเท้าขวาถอยหลังมา 1 ก้าว ให้มือและเท้า ยังคงอยู่กับพื้น เท้าซ้ายอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• ขณะหายใจออก ยกเท้าซ้ายเข้ามาชิดเท้าขวา แขนตรงยกสะโพกขึ้นให้ศีรษะ และแขนอยู่ในแนวเดียวกัน ทำท่าเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าและค่อยๆ ลดสะโพกลงมาที่พื้น (ให้สะโพกอยู่เหนือพื้นเล็กน้อย) ก้มตัวลงไปข้างหลังให้มากที่สุด

• หายใจออก และลดตัวลงมาที่เท้า เข่า มือ และอก สัมผัสพื้น

• หายใจเข้า และค่อยๆยกศีรษะขึ้น เงยศีรษะไปข้างหลังให้ได้มากที่สุด และโค้งกระดูกสันหลังไปให้ได้มากที่สุด เหมือนท่านาคอาสนะ

• ขณะหายใจออกช้าๆ และให้แขนอาสนะ ยกสะโพกขึ้น และให้ศีรษะอยู่ในแนวเดียวกับแขน ทำเป็นรูปโค้งขึ้น

• หายใจเข้าช้าๆ และงอเข่าซ้าย ก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าว มือยังคงอยู่ที่พื้น วางเท้าซ้ายลงบนพื้นระหว่างมือทั้งสองข้าง ยกศีรษะขึ้น

• หายใจออกช้าๆ ให้มืออยู่ที่เดิม ดึงเท้าทั้งสองเข้ามาชิดกัน ให้อยู่แนวเดียวกับมือถ้าเป็นไปได้ ให้ศีรษะสัมพันธ์กับหัวเข่า

• หายใจเข้าช้าๆ และยกแขนขึ้น ค่อยๆเอนตัวไปข้างหลัง โดยยื่นแขนขึ้นเหนือศีรษะ ย้อนกลับไปตำแหน่งยังข้อ 1



ท่าชวังคอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต ชว หมายถึง ทั้งหมด หรือ ทุกๆ อังคะ หมายถึง ร่างกาย ชวังคะ จึงหมายถึง ทำทั้งร่างกาย

ที่เรียกเช่นนี้เพราะเป็นท่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายทุกส่วน ท่านี้มักเรียกกันว่า ท่ายืนบนไหล่

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงายในท่า ศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำลงบนพื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้นขณะงอเข่าและดึงเข่าเข้ามาที่ท้อง หายใจออก

• หายใจเข้าช้าๆ กดฝ่ามือลง ยกลำตัวตั้งแต่ส่วนเอวขึ้นจากพื้น งอกระดูกสันหลังไปข้างหลัง และทำท่อนแขนให้ตรง ให้สะโพกอยู่บนพื้น

• หายใจเข้าแล้วในขณะหายใจออก ให้ยกขาตั้งฉากกับพื้น อาจใช้มือพยุงสะโพกไว้ หรือวางแขนไว้ลงกับพื้นตามถนัด

• ขาดชิด เข่าตรง นิ้วเท้าชี้ขึ้น ศีรษะตรงไม่หันไปด้านใดด้านหนึ่ง เก็บคางให้ชนหน้าอก

• หายใจเข้า ออก ช้าๆ ขณะคงท่านี้ไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 6 จนกลับสู่ท่าศพอาสนะ



ท่าตรีโกณอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ตรี ในภาษาสันสกฤตหมายถึง สาม โกณ หมายถึง เหลี่ยมหรือมุม

ดังนั้น ท่านี้จึงเรียกว่า ท่าสามมุม หรือท่าสามเหลี่ยม

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิดแขนแนบลำตัว

• แยกเท้าออกจากกัน ให้ระยะห่างมากกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย

• หายใจเข้าและยื่นแขนทั้งสองข้างออกให้ขนานกับพื้น ฝ่ามือคว่ำลง

• หายใจออกช้าๆ หันลำตัวไปทางซ้าย งอตัวที่ช่วงเอว ให้มือขวาลงไปที่แข้งซ้าย ฝ่ามือขวา วางไว้ข้างนอกของหน้าแข้งซ้าย

แขนซ้ายควรยื่นออกไปด้านบนขาและแขนทั้งสองข้างตรง โดยไม่ต้องงอเข่าและข้อศอก


• หันศีรษะขึ้นไปทางซ้าย มองไปที่ปลายนิ้วมือซ้าย หายใจเข้า และกลับไปสู่ท่าเดิม คือท่ายืน ให้แขนกางออก

• คงท่านี้ไว้ เท่ากับช่วงหายใจออก หายใจออกและทำซ้ำ ขั้นตอนที่ 4-7 สลับซ้าย



ศีรษะอาสนะ



ความหมาย

• คำว่า ศีรษะ หมายถึง หัว ในภาษาสันสกฤต ท่านี้คือ ท่ายืนด้วยศีรษะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในการฝึกอาสนะ ไม่แพ้ท่าปทมอาสนะ

ด้านบนคือภาพโมกุลในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นภาพโยคีขณะทำท่าศีรษะอาสนะ

วิธีปฏิบัติ


• นั่งคุกเข่า ให้สะโพกอยู่บนส้นเท้า

• เอนตัวไปข้างหน้า วางแขนลงบนพื้น ให้ศอกห่างกัน 1 ช่วงไหล่ ประสานนิ้วมือเข้าไว้ด้วยกัน

• วางศีรษะลงบนพื้น ให้ท้ายทอยสัมผัสมือที่ประสานไว้

• ให้ปลายเท้าจิกพื้น ขณะยกส้นเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น

• คงท่านี้ไว้เป็นระยะเท่ากับการหายใจเข้า ถ้าไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ให้ค่อยๆ หายใจออก และนอนราบกับพื้น กางขาออก กลับไปสู่ท่าศพอาสนะ



หลอาสนะ



ความหมาย

• หล แปลว่า คันไถ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย แบบท่าศพอาสนะ

• หายใจเข้า วางฝ่ามือคว่ำที่พื้น ให้สะโพกอยู่บนพื้น งอเข่าเข้ามาจรดท้องขณะหายใจออก

• หายใจเข้า ขณะหายใจออกให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับพื้น คุณอาจใช้มือพยุงสะโพก หรือวางแขนราบไปกับพื้นแล้วแต่ถนัด

• หายใจออก แล้วยกขาขึ้นเหนือศีรษะ งอขาตั้งแต่ช่วงเอวลงมา ยกหลังและสะโพก จนนิ้วเท้าสัมผัสพื้นด้านหลังของศีรษะ รักษาเท้าให้ชิดกัน

หากใช้มือพยุงหลังให้ลองวางแขนราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง ถ้าไม่สามารถวางแขนลงที่พื้นได้ให้ใช้มือพยุงหลังส่วนล่างไว้


• เข่าตรง หายใจช้าๆ และคงท่านี้ไว้สักครู่ ถ้านิ้วเท้าสัมผัสพื้นไม่ได้ ก็พยายามให้นิ้วเท้าอยู่ต่ำที่สุด

• ทำท่าย้อนกลับตั้งแต่ข้อ 5 ถึง 1 จนกลับไปสู่ท่าศพอาสนะเหมือนเดิม




ธนูอาสนะ




ความหมาย

• คำว่าธนู ในภาษสันสกฤต หมายถึง มีรูปร่างเหมือนคันศร โค้ง หรือ งอ คันศร

ในที่นี้หมายถึง คันศรที่ใช้กับลูกธนู ท่าอาสนะนี้ มีชื่อแบบนี้เนื่องจาก ร่างกายมีท่าทางคล้ายคันศรที่โก่งพร้อมยิงธนู

วิธีปฏิบัติ


• นอนคว่ำหน้าไปข้างใดข้างหนึ่ง แขนราบไปกับลำตัว หงายฝ่ามือขึ้น

• หันหน้ามาเพื่อวางคางไว้บนพื้น หายใจออก งอเข่า เอื้อมแขนไปข้างหลัง จับข้อเท้าขวาไว้ด้วยมือขวา จับข้อเท้าซ้ายด้วยมือซ้าย

• ขณะหายใจเข้า ค่อยๆ ยกขาขึ้นโดยดึงข้อเท้าขึ้น ยกเข่าขึ้นจากพื้น และยกอกขึ้นจากพื้นในเวลาเดียวกัน

กลั้นลมหายใจเข้าเอาไว้ ทิ้งน้ำหนักทั้งหมดลงบนหน้าท้อง


• ยื่นศีรษะให้ไกลที่สุด คงท่านี้ไว้ขณะกลั้นหายใจ

• หายใจออกช้าๆ วางเข่าลงบนพื้น ปล่อยข้อเท้า ค่อยๆ วางขาและแขนลงบนพื้น หันหน้าไปข้างหนึ่ง ทำเหมือนท่าเริ่มต้น



ท่าพิจิกอาสนะ



ความหมาย

• ท่าพิจิกหรือท่าแมงป่อง ในท่านี้ ร่างกายจะดูเหมือนแมลงป่อง ที่ยกหางโค้งขึ้นเหนือหัว พร้อมจะต่อยคู่ต่อสู้

แม้ท่านี้จะดูยากสำหรับผู้เริ่มต้น แต่ก็ไม่ยากเกินไปนัก

วิธีปฏิบัติ


• คุกเข่าลงที่พื้น โน้มตัวไปข้างหน้า วางศอกและแขนด้านในราบไปกับพื้น ให้ฝ่ามือคว่ำลง แขนควรห่างกันประมาณ 1ช่วงไหล่

• ยื่นศีรษะไปข้างหน้าและยกให้สูงที่สุด

• ยกสะโพกขึ้น วางเท้าให้มั่นคง

• หายใจเข้าและแกว่งขาขึ้นไปเหนือศีรษะ รักษาสมดุลของร่างกายไว้ ยกขาตรงขึ้นเหนือศีรษะ

• ค่อยๆ งอเข่าและปล่อยขาลงมาทางด้านศีรษะ ระวังอย่าเคลื่อนไหวเร็วเกินไป และอย่าทิ้งขาลงไปไกลเกินไปขณะรักษาสมดุลของร่างกายไว้

• ทำย้อนกลับจากข้อ 5 จนกลับไปสู่ท่าคุกเข่า

* ข้อควรระวัง ไม่ควรลองท่าแมงป่อง จนกว่าคุณจะสามารถทำท่าที่ต้องใช้สมดุลของร่างกายอื่นๆ และไม่เหมาะกับสตรีมีรอบเดือน



ท่าพฤกษอาสนะ




ความหมาย

• ในภาษาสันสกฤต พฤกษะหมายถึง ต้นไม้ ท่านี้จึงเรียกว่าท่าต้นไม้

"ยืนตรงบนขาซ้าย งอขาขวาและวางขาขวาไว้บนโคนขาซ้าย ยืนเหมือนต้นไม้ ยืนอยู่บนพื้นดิน นี่คือท่าพฤกษอาสนะ"

วิธีปฏิบัติ


• ยืนเท้าชิด แขนแนบลำตัว

• งอเข่าขวา ยกต้นขาขวา และยก ส้นเท้าขวาไปบนต้นขาซ้ายด้าน ในให้โกร่งที่สุดเท่าที่จะทำได้

• ทรงตัว บนเท้าซ้าย ยกแขนทั้งสอง ข้างขึ้นเหนือศีรษะ อย่าให้ข้อศอกงอ และให้ฝ่ามือประชิดกัน

คงท่านี้ไว้ขณะค่อยๆ หายใจ ประมาณ 10 ช่วงหายใจเข้าออก


• ลดแขนและขาขวาลง และกลับไปสู่ตำแหน่งในข้อ 1 คือการยืนหน้าชิด แขนแนบลำตัว หยุดพักสักครู่ และทำซ้ำด้วยขาข้างหนึ่ง



ศพอาสนะ



ความหมาย

• ความหมาย คำว่า ศพ ในภาษาสันสกฤต หมายถึง ร่างที่ตายไปแล้ว

"การนอนลงที่พื้นเหมือนศพ เรียกว่า ศพอาสนะ ช่วยกำจัดความเหนื่อยล้าและให้จิตใจได้พักผ่อน" จากหัตถโยคะปฏิบัติ

วิธีปฏิบัติ


• นอนหงาย อย่าให้ขาแตะกัน แขนราบไปกับลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น

• หลับตาลง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้า หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ

• งอข้อศอก วางฝ่ามือบนพื้นใต้ไหล่ ให้นิ้วชี้ไปด้านหลัง

• มุ่งความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกาย จากหัวถึงเท้า แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน

• คงท่านี้ไว้ 10-15 นาที หากรู้สึกง่วงนอนขณะทำท่านี้ ให้หายใจเร็วและลึกขึ้น

• ครั้งแรกที่ฝึก ให้คงท่าศพอาสนะไว้ 10 หรือ 15 นาที กลับมาทำซ้ำเป็นระยะๆ ในช่วงฝึกท่าต่างๆ เพื่อผ่อนคลายและกระตุ้นร่างกาย / จิตใจ

คำแนะนำ

บางคนคิดว่าท่านี้ง่ายมาก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จุดประสงค์ของศพอาสนะ คือ ให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย

นอกจากร่างกายจะต้องนิ่งและผ่อนคลายแล้ว จิตใจยังต้องนิ่งราวกับผิวน้ำที่ปราศจากการรบกวนอีกด้วย

ผลที่ได้คือการผ่อนคลายอย่างล้ำลึกและนิ่ง อันจะส่งผลให้เกิดสมาธิต่อไป

การฝึกศพอาสนะนั้นต้องใช้เวลา การกำหนดความสนใจไปที่อวัยวะแต่ละส่วนและ กำหนดลมหายใจล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการฝึกท่านี้อย่างยิ่ง

อุปสรรค 2 อย่างที่อาจลดคุณค่าการฝึกศพอาสนะ ก็คือ ความง่วงและจิตใจที่ฟุ้งซ่าน หากรู้สึกง่วงขณะฝึก ให้กำหนดลมหายใจให้ลึกขึ้น

หากจิตใจไม่นิ่ง ให้มุ่งความสนใจไปที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กำหนดจิตไปที่พื้นหรือที่จังหวะลมหายใจของคุณเอง

การฝึกศพอาสนะควรทำก่อนและหลังการฝึกอาสนะเป็นประจำ


ข้อมูลจาก
Practice 01





------------------------------------------------------------------------------

 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons